กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมออกระเบียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR ใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี 2.อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ 3. อุตสาหกรรมโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 4. อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ 5.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า 6. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 7.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง 8.อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ และ 9.กิจการเกี่ยวกับการจัดการของเสีย โดยให้ผู้ประกอบการทั้ง 9 กลุ่มดังกล่าวเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปลดปล่อยสารเคมีจากโรงงาน อาทิ ปริมาณการปลดปล่อยหรือทิ้ง น้ำเสีย อากาศเสีย และของเสีย โดยการรายงานดังกล่าวได้เริ่มในพื้นที่จังหวัดระยองตั้งแต่ ปี 2556 และจังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2559 และในอนาคตจะขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี และทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อลดและแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมระหว่างสังคมและโรงงานอุตสาหกรรม ผลักดันพื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่สีเขียวควบคู่กับการขยายตัวในอนาคตอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทร. 0 2202-4164 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมเร่งออกระเบียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) โดยให้โรงงานรายงานปริมาณการปลดปล่อยหรือทิ้ง น้ำเสีย อากาศเสีย และของเสียออกจากโรงงานไปบำบัดหรือกำจัด เพื่อติดตามตรวจสอบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษอย่างเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยการรายงานดังกล่าวจะเชื่อมโยงไปกับ กรมควบคุมมลพิษ เพื่อนำมาจัดทำระบบฐานข้อมูลเผยแพร่สู่สาธารณชนเกี่ยวกับการปลดปล่อยมลพิษและของเสียจากโรงงาน
นายมงคล กล่าวต่อว่า ระเบียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี 2.อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ 3. อุตสาหกรรมโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 4. อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ 5.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า 6. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 7.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง 8.อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ และ 9.กิจการเกี่ยวกับการจัดการของเสีย จะต้องจัดทำรายงานข้อมูล เช่น ข้อมูลปริมาณการใช้ ปริมาณการปลดปล่อยสารมลพิษ หรือ สารเคมี ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานประกอบการที่ลงสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งปริมาณมลสารในของเสียที่มีการเคลื่อนย้ายออกนอกบริเวณสถานประกอบการเพื่อกำจัดขั้นสุดท้าย คือ ฝังกลบและเผาทำลาย และจัดส่งข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม การรายงานดังกล่าวได้เริ่มในพื้นที่จังหวัดระยองตั้งแต่ ปี 2556 มีโรงงานที่เข้าร่วมกว่า 200 ราย ตั้งแต่ ปี2556 จนถึงปัจจุบัน แลได้ขยายไปยังจังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2559 และในอนาคตจะขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี และในอนาคตจะขยายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อลดและแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมระหว่างสังคมและโรงงานอุตสาหกรรม ผลัดดันพื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่สีเขียวควบคู่กับการขยายตัวในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังดำเนินการจัดอบรมการประเมินการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ และจัดทำคู่มือเผยแพร่ทางออนไลน์พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาการประเมินแก่โรงงานเพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้ความเข้าใจแก่โรงงานและชุมชน นายมงคล กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทร. 0 2202-4164 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th และเข้าถึงข้อมูลประจำปีได้ที่ prtr.pcd.go.th