กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--มหาวิทยาลัยศิลปากร
กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบไม้สีทองภายใต้โครงการ "การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมจากใบไม้สีทอง" นำโดย ดร.เรืองลดา ปุณยลิขิต อาจารย์ประจำหลักสูตรดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ(หลักสูตรนานาชาติ)และอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปะการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากรและหัวหน้าโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมจากใบไม้สีทอง เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการ OTOP ผลิตภัณฑ์จากใบไม้สีทอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา นำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลายหวังเอาใจลูกค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดโลกภายใต้แบรนด์ PANALA โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานแผนและข้อมูลสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิด ณ โรงแรมอิมพีเรียล จ.นราธิวาส เมื่อเร็วๆนี้
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นผลิตภัณฑ์ OTOPใบไม้สีทองอยู่แต่ในกรอบรูปจึงมีดำริให้หาแนวคิดนำใบไม้สีทองมาพัฒนาในรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และมีทางเลือกสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและยังเป็นการขยายช่องทางการตลาดใหม่อีกทางหนึ่งด้วย กระทรวงมหาดไทยรับนโยบายโดย ท่าน อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และมอบหมายให้ดำเนินงานโครงการฯต่อ
กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมมือคณาอาจารย์ม.ศิลปากร นำโดย ดร.เรืองลดา ปุณยลิขิต หัวหน้าโครงการฯ จัดอบรมเชิงปฎิบัติการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบไม้สีทอง ให้ความรู้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการ ในครั้งนี้มี 10 กลุ่ม พร้อมทั้งดีไซเนอร์ และยังได้ออกแบบโลโก้หรือแบรนด์ "ปานาลา" เพื่อใช้เป็นสัญญลักษณ์ในกลุ่มผู้ผลิตใบไม้สีทอง นอกจากนี้ยังได้ออกแบบ rebranding ชื่อร้านและชื่อแบรนด์ใหม่ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมด้วย ซึ่งในการออกแบบครั้งนี้จะเห็นว่าแต่ละแบรนด์มีความเป็นอินเตอร์สู่มาตรฐานสากลมากขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ของใบไม้สีทองที่เคยซื้อในรูปแบบเดิมๆก็จะเห็นในรูปแบบใหม่อาทิเช่น นาฬิกา โคมไฟ พวงกุญแจ จานรองแก้ว ที่ทับกระดาษ ฯลฯ ซึ่งในภาพรวมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ ดูจากผลงานแล้วผมรู้สึกดี แบรนด์ " ปานาลา" เปรียบเหมือนร่มคันใหญ่และเป็นตัวแทนของคนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเวลาลูกค้าเห็นสัญลักษณ์นี้ก็จะรู้ทันทีว่า แบรนด์ปานาลา คือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากใบไม้สีทอง
นายไกรวุฒิ ช่วยสถิตย์ พัฒนาการ จ.นราธิวาส กล่าวว่า " ผลิตภัณฑ์ใบไม้สีทองจากเดิมที่เป็นผลิตภัณฑ์อยู่แต่ในกรอบรูปมาวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น วันนี้รู้สึกภูมิใจและดีใจมากเพราะใบไม้สีทองเป็นสินค้าOTOP ของ3จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว ในการออกแบบแบรนด์ "ปานาลา" ดีไซเนอร์ได้นำแนวคิดและเรื่องราวของอัตลักษณ์ต่างๆมารวมเข้ากันไว้อย่างดีงาม เมื่อนำไปจดลิขสิทธิ์ก็จะเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งมาตรฐาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การขยายฐานกลุ่มลูกค้า การต่อยอดอะไรอีกมากมาย สำหรับใบไม้สีทอง ถือว่าได้รับการพัฒนามาไกลมาก มีหลากหลายทั้งเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน"
ด้าน ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากรและที่ปรึกษาด้านการออกแบบโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมจากใบไม้สีทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า โจทย์ที่ได้ให้ทำผลิตภัณฑ์ 10 ชิ้นงาน พร้อมสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ 10 แบรนด์และพัฒนาไปพร้อมๆกัน ทุกแบรนด์ทำผลิตภัณฑ์ออกมาเรื่องเดียวกันหมด ใบไม้สีทองที่อยู่ในกรอบรูป จึงได้ลงพื้นที่กับทีมงานเก็บข้อมูลก่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำหรับแบรนด์หลัก "ปานาลา" ตามภาษามลายูแปลว่า "เก่งจริงๆ" ดังนั้น "ปานาลา" จึงเปรียบเสมือนหมวกใบใหญ่เป็นโลโก้แทนกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ปัตตานี นราธิวาส ยะลา
คอนเซ็ปต์คือการดึงเอาอัตลักษณ์และสัญลักษณ์ของทางศาสนาที่มีเครื่องหมายของพระจันทร์กับดวงดาวบวกเข้ากับตัวหนังสือที่ดีไซน์ออกมาเป็นริบบิ้นสื่อถึงของขวัญหรือของฝากจะเห็นว่าบนโลโก้ ปานาลา ด้านบนเป็นภาพของโบสถ์ มัสยิดเรียงร้อยเรื่องราวของดวงดาว และเพื่อให้แบรนด์ดูมีความอินเตอร์มากขึ้นผมใช้ภาษาอังกฤษคำว่า Siam's Down Under แปลว่าใต้สุดของสยามเพื่อให้ดูสอดคล้องและสื่อถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดินแดนแห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจมากมาย
สำหรับการทำเวิร์คช้อปครั้งนี้ผู้ประกอบการทุกคนน่ารักมากให้ความร่วมมือตั้งใจที่จะพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ของเขาจริงๆและมองเห็นช่องทางสิ่งที่นำเสนอไปเป็นตัวมาจุดประกาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน อาทิ นาฬิกาแขวนผนัง นาฬิกาข้อมือ เข็มกลัด พวงกุญแจ ไม้หอมฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำการวิจัย ทดลองและผลิตออกมาเป็นชิ้นงานจริงถือเป็นชิ้นงานนำร่องหรือต้นแบบก็ว่าได้
สุดท้ายอยากให้ผู้ประกอบการเก็บความตั้งใจนี้กลับไปพัฒนาในสิ่งที่ผู้ประกอบการมี เราเป็นผู้เริ่มต้นส่วนผู้ที่จะทำให้แบรนด์ไปไกลได้แค่ไหนนั้นอยู่ที่ผู้ประกอบการ อยากให้ร่วมมือกัน สามัคคีกันแล้วระดมกำลังทางความคิดพัฒนาสร้างกฏเกณฑ์และเงื่อนไขลักษณะที่เป็นข้อตกลงนำไปพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้เดินต่อไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดดครับ
รศ.ประดิพัทธุ์ เลิศรุจิดำรงกุล อาจารย์ภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร เจ้าของไอเดีย ผลิตภัณฑ์ไม้หอม และโคมไฟหนังตะลุง กล่าวถึงชิ้นงานว่า"เนื่องจากใบไม้เป็นสิ่งที่บอบบางแต่ทรงด้วยคุณค่าลักษณะเด่นของใบไม้สีทองอยู่ที่สีคือสีทองถ้าจะทำให้สินค้าเดินไปได้เราต้องสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์จากใบไม้ก็ทำให้เป็นดอกไม้ หรือจะเป็นอะไรอื่นๆได้อีกมากมาย
ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมามีหลายชิ้น ได้แก่ พวงมาลัย ดอกไม้ โคมไฟตั้งโต๊ะ(โคมไฟหนังตะลุง) แจกันดอกไม้หอมฯ ตัวอย่าง ดอกไม้ซึ่งทำมาจากใบไม้ ไม่มีกลิ่นก็ใส่กลิ่นเข้าไปก็กลายมาเป็นดอกไม้หอม ถือเป็นจุดเริ่มต้นและแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใดๆก็ตามเมื่อทำขึ้นมาแล้วบรรจุภัณฑ์ควรมีตามมาอาจทำจากกล่องกระดาษ หรือกล่องไม้ เก๋ๆประดิษฐ์ตกแต่งให้ดูสวยงามก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับตลาดกลุ่มวัยรุ่นเป็นอย่างมาก
"จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการเศษใบไม้ที่เหลือใช้นั้นเราสามารถคัดแต่ใบสวยๆนำมาใส่โหลฉีดน้ำหอมเข้าไป ปิดฝาอบไว้ เปิดขึ้นมาก็ส่งกลิ่นหอมสดชื่นไปทั่ว ทำจำหน่ายได้อีกนับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกลุ่มนี้ยังไปได้ดี" อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อที่หลากหลายให้กับลูกค้าแล้วยังเป็นการสร้างชิ้นงานให้กับผู้ประกอบการได้คิดต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ก้าวไกลไปข้างหน้าได้อีกมากมาย
ด้าน ผช.ศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวศมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า "ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใบไม้สีทองให้เปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งอยู่ในกรอบรูปนั้นเราอาจเคยเห็นรูปลักษณ์แต่ไม่รู้คุณสมบัติที่แท้จริง โจทย์ของผมคือทำอย่างไรให้ใบไม้สีทองออกมาอยู่นอกกรอบและสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ ปัญหาที่มีเช่นความไม่คงทนการเสื่อมสลาย ก็หาวิธีแก้ปัญหาต่อหรือยอมรับสภาพลักษณะนั้น"
"จากปัจจัยดังกล่าวได้นำเอาใบไม้สีทองมาเป็นวัสดุตั้งต้นในการออกแบบโดยพิจารณาคุณสมบัติจากตัววัสดุเองเช่น สีที่สวยงาม พื้นผิวที่เป็นลายกำมะหยี่มีความพิเศษอย่างไรโครงงานที่ได้รับคือเป็นงานออกแบบเครื่องประดับ ผมเลยเลือกเข็มกลัดมาเป็นชิ้นงานต้นแบบ แล้วเอาผลงานเครื่องประดับมาประกอบกับวัสดุนี้ได้อย่างไร ในการออกแบบเครื่องประดับมีทั้งแบบสวมใส่ได้จริง การออกแบบเครื่องประดับที่จะทำให้มีความสวยงามน่าดูลวดลายเกี่ยวข้องกับวิถีชุมชนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแล้วต้องเอาใบไม้สีทองเหล่านี้เข้ามารวมอยู่ด้วย"
ผช.ศ.ดร.วีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากโจทย์ก็มาศึกษาดูว่าชุมชนนี้พี่น้องส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงเริ่มต้นจากกลุ่มเป้าหมายตัวชุมชนนำเอาวัฒนธรรมไทยมุสลิมมาผนวกเข้ากับลวดลายแล้วนำมาวิเคราะห์คัดเลือกออกมา 4-5 ลาย เพื่อทำต้นแบบลักษณะชิ้นงานออกมาแนวกึ่งโครงสร้างทับซ้อนกัน 4-5 เลเยอร์ โดยชั้นแรกฐานเป็นงานโลหะฉลุลวดลายตามที่เราเลือกมาของกลุ่มอิสลามมิกแพทเทิร์นชั้นที่ 2 เป็นใบไม้สีทองที่ถูกเอามา ตัด เล็ม ฉลุ เจาะให้เป็นลวดลายมาประกอบ ชั้นที่ 3 เป็นตัวโลหะอีกฉลุลวดลาย ชั้นที่ 4 เป็นอัญมณีที่ทดลองฝังประดับไว้บนเข็มกลัดเช่นพลอยสังเคราะห์ หรือปรับเปลี่ยนเป็นอื่นๆได้เป็นต้น"
"ทุกอย่างถูกปรับปรุงเป็นเครื่องประดับเข็มกลัดที่ใช้ในงาน พี่น้องชาวมุสลิมโดยเฉพาะผู้หญิงมักจะสวมผ้าคลุมผม แล้วเครื่องประดับที่ใช้ได้คือเข็มกลัดเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนความเป็นอิสลามมิกและความเป็นไทยผสมเข้าหากัน สื่อความหมายในเชิงของวัฒนธรรมอิสลามวัฒนธรรมไทย หรือเราจะพูดถึงไทยอิสลามหรือไทยพุทธได้ทั้งหมด มันมีความผสมผสานกันอยู่".....
นางกัลยดา หฤทัยวรรณ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ(ผู้ช่วยหัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน) สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ยะลา หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฎิบัติการการพัฒนาใบไม้สีทอง กล่าวว่า " การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใบไม้สีทองเดิมทีมักจะมีรูปแบบเดียวมาแต่ไหนแต่ไรไม่ได้พัฒนาอะไรมากมาย อย่างมากแค่เปลี่ยนกรอบรูปให้ดูสวยขึ้น พอทีมงานคณะอาจารย์เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นรูปแบบใหม่ มีการพัฒนาไอเดียใหม่ๆ เข้ามา ผู้ประกอบการมีความรู้สึกยินดีมากและมีความตื่นตัว ส่วนตัวในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ก็รู้สึกดีมากกับโครงการนี้ ในเรื่องของการพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาโดยปกติแล้วเรา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กันอยู่แล้วแต่ไม่ได้มีการรวมตัว มีการใช้โลโก้เดียวกันแบรนด์เดียวกันอย่างนี้"
แบรนด์ "ปานาลา" ถือเป็นโลโก้ที่ดีมีความงดงามแลดูเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคำที่ตัดทอนมาจาก 3 จังหวัด ความหมายของคำว่า "ปานาลา" อีกทั้งยังรวมไปถึงสัญลักษณ์ต่างๆที่นำมาใช้ได้อย่างลงตัวเหมาะสมมากๆกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการนำเอาวัฒนธรรมรูปแบบวิถีชีวิตมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในโลโก้ เพิ่มความชัดเจนให้กับ 3จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และอยากให้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจนถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้