กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 57.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.43เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- บริษัท TransCanada รายงานท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone (ปริมาณสูบถ่าย 590,000 บาร์เรลต่อวัน) หยุดดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 60 ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจาก U.S. Pipeline and Hazardous Materials Safety Administration (PHMSA)ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการกำจัดการปนเปื้อน เนื่องจากน้ำมันดิบที่รั่วไหลมีปริมาณถึง 5,000 บาร์เรล ทั้งนี้บริษัทแจ้งลูกค้าในสหรัฐฯ บางส่วนว่าจะลดปริมาณการส่งมอบน้ำมันดิบจากแคนาดา ผ่านท่อ Keystone ลงอย่างน้อย 85 %
- Joint Organization Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ในเดือน ก.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 160,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 6.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 190,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 2.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้าที่ อยู่ที่ 9.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- 21 พ.ย. 60 บริษัท Shell Canada เผยหน่วยผลิต Oil Sand Scotford (กำลังการผลิต 255,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่รัฐ Alberta ประเทศแคนาดา เกิดขัดข้องทางเทคนิคตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 60 ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการตามปกติ และอาจต้องลดปริมาณส่งมอบแก่ลูกค้าทั้งในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 60 รวมถึงแหล่งผลิตของบริษัท Syncrude (กำลังการผลิต 350,000 บาร์เรลต่อวัน) เกิดเหตุขัดข้องเช่นกัน และต้องลดปริมาณส่งมอบแก่ลูกค้าในเดือน พ.ย. 60 ราว 5%
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.9ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 457.1 ล้านบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Reuters รายงานว่าการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ล่าสุด (22-23 พ.ย. 60) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 270,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เกิดข้อพิพาทรุนแรงระหว่างเคอร์ดิสถานกับอิรักจากการลงประชามติแบ่งแยกดินแดน อนึ่ง การส่งออกเมื่อเดือน ต.ค. 60 อยู่ในช่วง 200,000 - 300,000บาร์เรลต่อวัน
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig Count) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 22 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น อยู่ที่ 747แท่น
- ทางการมลรัฐ Nebraska ของสหรัฐฯ อนุมัติเส้นทางการก่อสร้างท่อขนส่ง Keystone XL(ปริมาณสูบถ่าย 830,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัทTransCanada ที่เชื่อมแหล่งผลิต Oil Sands ในรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา มายังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเส้นทางที่อนุมัติจำเป็นต้องเพิ่มระยะทางอีก 8 กิโลเมตร จากเส้นทางที่ TransCanada ต้องการ
- InterContinental Exchange (ICE) ในลอนดอน รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ Brent สัปดาห์สิ้นสุด 21 พ.ย. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 11,317 สัญญา อยู่ที่ 526,240 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone (ปริมาณสูบถ่าย 590,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ขนส่งน้ำมันดิบจากแคนาดามาสหรัฐฯ ยังคงปิดดำเนินการหลังพบการรั่วไหลเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 60 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI/ICE Brent แคบลงมาอยู่ที่ -4.9 เทียบกับช่วงก่อนหน้าที่กว้างกว่า -6.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยส่วนที่ปิดดำเนินการได้แก่ส่วนที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากแคนาดามายังคลังน้ำมันดิบ Cushing รัฐ Oklahoma ที่เป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI และส่วนที่แยกไปโรงกลั่นในรัฐ Illinois ซึ่งบริษัท Phillip 66 เผยว่าโรงกลั่น Wood River (330 KBD) ในรัฐ Illinois ที่รับน้ำมันดิบจากท่อKeystone จำเป็นต้องลดอัตราการกลั่น และคาดว่าอาจใช้เวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ท่อ Keystone จึงจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ ตลาดยังจับตามองการประชุมกลุ่ม OPEC ในวันที่ 30 พ.ย. 60 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งจะมีผู้ผลิตนอกกลุ่ม เข้าร่วมเพื่อเจรจาเรื่องขยายระยะเวลามาตรการควบคุมปริมาณการผลิต ล่าสุดนาย Alexander Novak รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย เผยว่ารัสเซียพร้อมจะประชุมในวาระดังกล่าว แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาว่าจะขยายมาตรการจนถึงช่วงใด แต่ผู้ค้าในตลาดได้คาดว่ากลุ่มผู้ผลิตจะขยายระยะเวลาจนสิ้นสุดปี 2561 ดังนั้นหากการประชุมมีมติออกมาไม่เป็นไปตามคาด อาจเกิดการเทขายสัญญาซื้อ (Long Position) จำนวนมากทั้งในตลาด NYMEX และ ICE ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.5-65.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 57.5-60.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.5-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นจาก Center for Monitoring India Economy รายงานจำนวนรถยนต์จดทะเบียนในอินเดีย เดือน ก.ย. 60เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 15,873 คัน อยู่ที่ 276,925 คัน ประกอบกับ โรงกลั่น Yeosu (กำลังการกลั่น 255,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท GS Caltex ของเกาหลีใต้เดินเครื่องในไตรมาสที่ 3/60 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2% อยู่ ที่ระดับ 93% และบริษัท Ceypetco ของศรีลังกา ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON และ 95 RON ปริมาณ 255,000 บาร์เรลต่อวัน และ 65,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ส่งมอบวันที่ 20-21 ธ.ค. 60 อนึ่ง ก่อนหน้านี้ Ceypetco ซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RONและ 95 RON ปริมาณ 268,000 บาร์เรล และ 56,5000 บาร์เรล ตามลำดับ ส่งมอบช่วงเวลาเดียวกัน และ Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเชียออกประมูลซื้อ น้ำมันเบนซิน 98 RON ปริมาณ 500,000 -850,000 บาร์เรล ต่อเดือน ส่งมอบ ม.ค.-มี.ค. 61 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 260,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.36 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Bloomberg New Energy Finance รายงานยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และรถยนต์Hybrid ของจีน ไตรมาส 3/60 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 23% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 63% มาอยู่ที่ระดับ 287,000 คัน และคาดว่ายอดขายรวมทั่วโลกปีนี้จะเพิ่มทะลุถึง 1,200,000 คัน เป็นครั้งแรก โดยยอดขาย 50 % มาจากจีน เนื่องจากสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพิ่มขึ้น และรัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อการลดมลพิษ รวมทั้งต้องการให้อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีนมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 210.5 ล้านบาร์เรลทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นจาก Meteorological Agency ของญี่ปุ่นคาดระหว่างช่วงวันที่ 18 พ.ย. – 17 ธ.ค. 60 ญี่ปุ่นมีโอกาส 40-50 % จะเผชิญกับอากาศหนาวกว่าค่าเฉลี่ย และบริษัท Saigon Petro ของเวียดนามซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณกำมะถัน 0.005% ปริมาณ 74,500 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 19-23 ธ.ค. 60 เป็นครั้งแรกที่เวียดนามเข้าซื้อน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ เนื่องจากเวียดนามมีแผนใช้มาตรฐาน Euro 4 หรือ 0.005%S สำหรับยานพาหนะ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 และโรงกลั่นเพียงโรงเดียวของประเทศ Dung Quat (กำลังการกลั่น 122,000 บาร์เรลต่อวัน) ยังไม่สามารถผลิตน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานใหม่ได้ อีกทั้งโรงกลั่นใหม่ Nghi Son (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 1/61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 260,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.79 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Korea National Oil Corp. รายงานยอดผลิตน้ำมันสำเร็จรูปในเดือน ต.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3% มาอยู่ที่ 1.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 รวม 10 เดือนแรกของปี พ.ศ.2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.9% ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.0-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล