กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--
"คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ " หนึ่งในหัวเรือหลักที่กำหนดยุทธศาสตร์ตอบโจทย์การเป็น Entrepreneurial University ของธรรมศาสตร์ในการ "สร้างคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกระดับ" เช่น การสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ท อัพ ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน โดยใช้ "ธรรมศาสตร์โมเดล" เป็นแนวทางในการยกระดับธุรกิจชุมชนจากธุรกิจที่ไม่มีคนรู้จักกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและมีแบรนด์ที่รู้จักของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ปรับภูมิทัศน์และบรรยากาศของคณะให้เป็น Eco System เพื่อปั้นสตาร์ท อัพเลือดใหม่ ล่าสุดคือ ยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีจากกลุ่มที่มีรายได้จาก 10 สู่ 100 ล้าน จาก 100 ล้านสู่ 1,000 ล้าน และ 1,000 ขยับสู่ 10,000 ล้าน นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นสร้างงานวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้าง Business for Better Life,Better Society ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ผลงานวิจัยล่าสุดของทีมวิจัยคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ที่พูดได้ว่าเป็น Roadmap สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 คือ งานวิจัยภายใต้แนวคิด "Business 4.0" ที่เผยแพร่ในเวทีสัมมนาวิชาการ "Business 4.0 : Readiness and Roadmap" ในวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กิจกรรมประกอบด้วย การแสดงปาฐกถานำในหัวข้อ "Business 4.0 and Thailand Competitiveness" โดย " คุณอาทิตย์ นันทวิทยา" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยพาณิชย์ การนำเสนอผลวิจัย "Business 4.0 : บนเส้นทางความพร้อมและความท้าทายของธุรกิจไทย" โดย รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ จากนั้นมีการนำเสนอผลการวิจัย และกรณีศึกษาธุรกิจ 4.0 โดยทีมวิจัยของ TBS โดยเลือก 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีมูลค่าการเติบโตสูงและเป็นเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นโจทย์วิจัย ได้แก่ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ( โลจิสติกส์และท่องเที่ยว) โดย ผศ.ดร.ธนวัติ ลิมป์พาณิชย์กุล , อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ โดย รศ.ดร. ศากุน บุญอิต , อุตสาหกรรมอาหาร เกษตรและไบโอเทคโนโลยี โดย ผศ.ดร.นิติ รัตนปรีชาเวช และ ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว นอกจากนี้ยังมี
กรณีศึกษาธุรกิจ 4.0 ได้แก่ กลยุทธ์การปรับตัวสู่ Business 4.0 โดย สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ ผู้บริหาร SHIPOP ,กรณีศึกษา " เที่ยวจนเป็นเงินเป็นทอง" โดย นพพล อนุกูลวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้ง TakeMe Tour กรณีศึกษา MEid วิกฤติสุขภาพและโอกาสแบบ 4.0 โดย ปิติพงศ์ เหลืองเวชการ บริษัท MEid, นวัตกรรมสุขภาพไทยในเวทีโลก โดย เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ CT Asia Robotics , Smart Farmer กับแนวรบใหม่แห่ง Business 4.0 โดย อานนท์ บุณยประเวศ CEO & Co-Founder สตาร์ท อัพน้องใหม่จากบริษัท Techfarm ,ธุรกิจอาหารสู่ Business 4.0 โดย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ซีอีโอ วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ธุรกิจ ให้ผู้ร่วมงานได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานนี้อีกด้วย