กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน น้อมรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝึกทักษะช่างฝีมือ สร้างโอกาส สร้างอาชีพกลุ่มผู้ด้อยโอกาส บูรณาการร่วมกันนานกว่า 5 ปี
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เผยว่า การฝึกอาชีพตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กพร.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 61 มีเป้าหมายดำเนินการกว่า 4,500 คน นอกจากนี้ยังร่วมกับหลายหน่วยงาน ดำเนินการตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่นอกเหนือกลุ่มเป้าหมาย เช่น การร่วมกับมูลนิธิพระดาบส ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือตั้งแต่ปี 2556 ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และยะลา โดยหน่วยงานของ กพร. จะทำหน้าที่ในการฝึกทักษะด้านช่างฝีมือก่อนที่นักเรียนในโครงการจะจบหลักสูตร ที่ผ่านมาได้ร่วมฝึกทักษะไปแล้วกว่า 1,000 คน
นายปรีชา แก้วเกื้อ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา กล่าวว่า สถาบันฯ ยะลา เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีโอกาสได้ดำเนินการฝึกตามโครงการดังกล่าว เนื่องจากโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีเครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับฝึกภาคปฏิบัติ ปัจจุบันรับฝึกทักษะใน 2 สาขา ได้แก่ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ 18 คน และช่างซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ อีก 22 คน รวม 40 คน ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม – 21 ธันวาคม 2560 รวม 4 เดือน และหลังจากจบฝึกในสถาบันฯ แล้ว จะทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ด้วย ก่อนที่จะส่งน้องๆ เหล่านี้ไปฝึกงานในสถานประกอบกิจการอีก 2 เดือน เพื่อให้มีประสบการณ์และสามารถปฏิบัติงานได้จริง ในช่วงที่ฝึกอบรมในสถาบันฯ นั้น เราจะเสริมประสบการณ์ให้ด้วยโดยนำผู้รับการฝึกออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ตามพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด
ด้าน รศ.เฉลิมยศ อุทยารัตน์ ผอ.โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเสริมว่า แต่ละปีจะรับนักเรียนไม่เกิน 80 คน ซึ่งเป็นเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ มีอายุระหว่าง 18-25 ปี เพศชาย หลักสูตรมีระยะเวลา 1 ปี และต้องพักอาศัยอยู่ที่โรงเรียนตลอดหลักสูตร ดังนั้น นักเรียนกลุ่มนี้จะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน สอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม โดยมีกิจกรรมสอดแทรกทั้งภาคเช้า-เย็น มีการแบ่งหน้าที่งานในครัว ทำความสะอาด เพื่อฝึกให้ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สำหรับด้านช่างนั้น 3 เดือนแรก จะปูพื้นฐานช่างให้ก่อน หลังจากนั้นจึงจะแยกสาขา โดยที่ยะลามี 4 สาขาคือ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ ช่างเครื่องกลการเกษตร สาขาช่างไฟฟ้า และครึ่งปีหลังจะส่งเข้าฝึกอบรมทักษะอาชีพภาคปฏิบัติกับหน่วยงานที่มีความร่วมมือกัน อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 23 ยะลา วิทยาลัยเทคนิค เมื่อจบหลักสูตร โรงเรียนจะนำไปสมัครเข้าทำงานกับผู้ประกอบการโดยตรง ที่ผ่านมามีงานทำทุกคน เพราะผู้ที่รับเข้าเข้าทำงานมีความเชื่อมั่นในโรงเรียนและหน่วยงานที่ฝึกทักษะด้านช่าง
นายสุดีมัน แมเราะ (มัง) อายุ 19 ปี และนายซัฟวาน สะอง(วัง)อายุ18 ปี ฝึกสาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ เล่าว่า ทราบข่าวว่ามีการฝึกในโครงการดังกล่าวจากเฟสบุคและมีเพื่อนที่เคยมาเรียนแนะนำ จึงตัดสินใจมาสมัครเพราะต้องการมีความรู้ด้านช่าง และครอบครัวไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อ การมาเรียนที่นี่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย จึงเป็นโอกาสของเขาทั้งสองคนที่จะมีความรู้ติดตัว เพื่อไปประกอบอาชีพตามความฝันที่อยากมีร้านซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นของตนเอง
ด้านนายอาฟันดี ดาโอะ (ดี) อายุ 19 ปี และนายนิซอฟรี นิโมง (ฟี) อายุ 20 ปี ฝึกสาขาช่างซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขอบคุณที่มีหน่วยงานของรัฐอย่างโรงเรียนพระดาบสและสถาบันฯ ยะลา ที่ให้โอกาสคนที่ไม่มีเงินไปเรียนต่อสูงๆ ได้มีความรู้ติดตัวสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ในหลวง ร.9 ที่ทรงพระราชดำริให้มีโครงการนี้
การพัฒนาทักษะฝีมือเป็นภารกิจหลักของกพร. ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการฝึกทักษะให้กับกลุ่มใดและการร่วมกันของทุกภาคส่วนย่อมส่งผลดีต่อทุกคน เมื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีย่อมทำให้ประเทศมีความเข็มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น อธิบดีกพร.กล่าวทิ้งท้าย