กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานเปิดตัว "โครงการนวัตกรรมมุ่งเป้า (Thematic Innovation)" โดยมุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมในระดับสาขาและประเด็นที่มีผลกระทบต่ออนาคตของประเทศในระดับสูง ผ่านการแสวงหาโจทย์ปัญหาที่แท้จริงร่วมกันระหว่างภาคเอกชน สังคม และภาควิชาการ นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง "นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย"
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า "จากนโยบาย "Thailand 4.0" ของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Value–Based Economy โดยมีฐานคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี เปลี่ยนจากบริการดั้งเดิม (Traditional Services) ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่บริการมูลค่าสูง (High Value Services)"
สนช. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยพัฒนากลไกการสนับสนุนแบบใหม่ในโครงการ "นวัตกรรมแบบมุ่งเป้า" ซึ่งสามารถสนับสนุนได้สูงสุดโครงการละไม่เกิน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาอุตสาหกรรมและบริการที่มีโอกาสขยายผลให้เกิดนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศใน 5 สาขา ได้แก่ 1) ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 2) อุตสาหกรรมสมุนไพรเพื่อสุขภาพ 3) ธุรกิจที่ใช้อากาศยานไร้คนขับ 4) อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี IoT และ 5) อุตสาหกรรมอาหารและสังคมเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายผลผู้ประกอบการนวัตกรรมที่มีศักยภาพไปสู่ระดับการผลิตจริงและระดับการใช้งานจริง ซึ่งจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเดิมให้มีความสมบูรณ์ในมิติต่างๆ มากขึ้น กล่าวคือในระยะเวลา 5 ปี เอสเอ็มอีจะได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีมาตรฐาน และส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดระดับสากล โดยมีมูลค่าด้านเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีผู้ร่วมดำเนินการและผู้เกี่ยวข้องครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำ (ผู้สร้างเทคโนโลยี) กลางน้ำ (ผู้นำเทคโนโลยีไปใช้งาน) และปลายน้ำ (ประชาชนหรือผู้บริโภค) จำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ทั้งนี้ เชื่อว่าการร่วมจัดสรรทรัพยากรขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งด้านบุคคลและเงินทุนจะสร้างมูลค่าส่วนรวม ได้มากกว่าโครงการนวัตกรรมแบบเดี่ยวทั่วไป โดยมีมูลค่าทรัพยากรที่ร่วมจัดสรรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของการดำเนินงาน
การดำเนินโครงการนี้ สนช. แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) การศึกษาและกำหนดโจทย์ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม/บริการเป้าหมายให้ทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและพฤติกรรมของลูกค้า 2) สร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมขององค์กรระดับนานาชาติ และองค์กรระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม-บริการของประเทศ และทำกิจกรรมร่วมกับผู้ใช้งานปลายน้ำได้แก่ ประชาชน ผู้บริโภค ผู้ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมนั้น 3) การเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานหลัก หน่วยงานสนับสนุน หน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชน โดยสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้ทุกหน่วยงานเดินทางไปทิศทางเดียวกันติดตามกันได้ตลอดเวลาของการขับเคลื่อน และ 4) การขยายผลนวัตกรรมที่เกิดขึ้นให้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจแบบเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบก้าวกระโดด รวมไปถึงการนำนวัตกรรมไปสู่การทำการตลาดนวัตกรรมด้วย ทั้งนี้ เอกชนที่สนใจจะขอรับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้ จะต้องมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 3 ปี มีผู้เชี่ยวชาญร่วมในการดำเนินโครงการ และสามารถแก้ปัญหาภาพรวมของอุตสาหกรรมได้ โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของแต่ละอุตสาหกรรมได้ที่ www.nia.or.th/thematic
"สนช. มุ่งหวังว่าโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้านี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทย ในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมผ่านความร่วมมือเชื่อมโยงองค์ความรู้จากทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนานวัตกรรมและเป็นต้นแบบโครงการนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่จะช่วยแก้ปัญหาและยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม และส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างก้าวกระโดด" ดร. พันธุ์อาจ เปิดเผยเพิ่มเติม