กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมลงพื้นที่ภาคใต้ ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงาน เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในกิจกรรม ครม. สัญจร นำโดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการนี้ นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิจัย กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ให้การต้อนรับและเสนอผลงานของผู้ประกอบการชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ช่วยแก้ไขปัญหา พัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและได้รับการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา จังหวัดสงขลา
โดยผลงานของผู้ประกอบการชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ช่วยแก้ไขปัญหา พัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและได้รับการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ประกอบด้วย
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรสามราศี จ.สงขลา โดยถ่ายทอดการพัฒนากระบวนการผลิตและปรับปรุงผลิตภัณฑ์แชมพูผสมสารสกัดจากมะกรูดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด และให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนากระบวนการผลิตให้ผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรอง มผช. ตลอดจนให้การอบรบเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร และมาตรฐานต่างๆ
- กลุ่มหมู่บ้านน้ำแร่พรรั้ง จ.ระนอง โดยให้คำปรึกษาแนะนำ การพัฒนากระบวนการผลิตและปรับปรุงผลิตภัณฑ์สเปรย์น้ำแร่ สบู่เหลวน้ำแร่ โลชั่นบำรุงผิวน้ำแร่ และเกลือขัดผิวน้ำแร่ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด และผลักดันให้เข้าสู่การขอการรับรอง มผช.ตลอดจนให้การอบรบเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรจาก น้ำแร่ธรรมชาติ และมาตรฐานต่างๆ และยังให้การสนับสนุนฉลากบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการยังได้นำเสนอและติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอาหารและเครื่องสำอางสมุนไพรให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออกสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ปี 2557 -2560) และโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางสมุนไพรเพื่อการรับรองฮาลาล (ปี 2559 – 2561) เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอาหารแปรรูปและเครื่องสำอางสมุนไพรให้ได้การรับรองมาตรฐานฮาลาล พร้อมแข่งขันในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการทางด้านอาหารให้ได้การรับรองมาตรฐานฮาลาล รวมจำนวน 52 ผลิตภัณฑ์ และในด้านเครื่องสำอางได้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานส่งเสริมโดยมีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการอาหารแปรรูปในพื้นที่ จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ให้ได้การรับรองมาตรฐานฮาลาล ในปีงบประมาน 2561