กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--กรมประมง
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ "เอเลี่ยนสปีชีส์"ที่พบเห็นได้จากสื่อต่างๆอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่มีการนำเข้ามาจากถิ่นอื่นโดยไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา บางชนิดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยทำให้เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดี ถือเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ดั้งเดิมของไทยและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย เราจึงเรียกชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนี้ว่า "ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่รุกราน"ในปัจจุบันประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่มากกว่า 3,500 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาเพื่อการเกษตร การเพาะเลี้ยง เป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม รวมทั้งการเก็บรวบรวมไว้ในสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ โดยมีการแพร่ระบาดข้ามพรมแดนผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน การเดินทาง การขนส่ง ดังนั้นการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยมีสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว เช่น ปลาดุกรัสเซีย ปลาซักเกอร์ ปลาหมอเทศ และสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน เช่น ปลาหมอสียักษ์ ปลากดอเมริกัน ปลาเทราท์สายรุ้ง เป็นต้น ซึ่งหากสัตว์น้ำต่างถิ่นเหล่านี้หลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดผลเสียตามมามากมายเพราะสัตว์น้ำต่างถิ่นจะแย่งพื้นที่อยู่อาศัยและแย่งอาหารของสัตว์น้ำพันธุ์พื้นเมือง รวมถึงอาจเป็นตัวนำเชื้อโรคและปรสิตชนิดใหม่ๆ มาแพร่กระจายในแหล่งน้ำได้ ทำให้สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยลดน้อยลง อันนำไปสู่การสูญพันธุ์ของพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมือง ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติ และเกิดความเดือดร้อนกับเกษตรกรในการดำรงชีพ อันจะนำไปสู่ความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจได้หากไม่มีระบบการป้องกันและควบคุมอย่างทันท่วงที
ดังนั้นประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกภาคีอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการกำหนดกรอบการดำเนินงานที่จะผลักดันให้มีการจัดการกับเอเลี่ยนสปีชีส์ จึงมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมาย โดยเตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงซึ่งหากผู้ใดกระทำผิดมีบทลงโทษตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560 (ฉบับแก้ไข) ตามมาตรา 144 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ในการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากต่างประเทศจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) เสียก่อน ซึ่งจะพิจารณาวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้ รวมถึงมาตรการป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดออกไปยังแหล่งน้ำสาธารณะได้
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประเทศไทยมีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นเป็นจำนวนมากซึ่งมีรายชื่อชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าจากคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) อาทิ ปลาหนวดตัวดำ ปลาจระเข้ปากสั้น ปากยาว กุ้งแคระ ปลาหมูไฟฟ้า ปลาซักเกอร์ ปลาจิ้งจกลายเสือ กุ้งแคระขาว กุ้งแคระทับทิม เครย์ฟิช ปลาหมอสี เป็นต้น และล่าสุดกรมประมงได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอความเห็นไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อ (ร่าง) ทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม กำจัดของประเทศไทย จำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว 2. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน 3. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานในประเทศอื่นแต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย และ 4. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้นำไปดำเนินการ รวมถึงได้สนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมากขึ้นและเพื่อปรับปรุงให้การดำเนินการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อธิบดีกรมประมงกล่าวตอนท้ายว่า...กรมประมงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หากท่านเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำต่างถิ่นและไม่ต้องการเลี้ยงอีกต่อไป อย่าได้นำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะเด็ดขาด ขอให้ท่านนำมามอบให้กับทางกรมประมง หรือหน่วยงานในสังกัดกรมประมงในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแลและป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ อันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศน์ของประเทศ พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนหันมาปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสายพันธุ์พื้นเมืองของไทยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาสวาย ปลาช่อน ปลาสร้อยขาว ปลาหมอไทย ปลากราย เป็นต้น เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำ รวมไปถึงการอนุรักษ์สัตว์น้ำสายพันธุ์ไทย สร้างแหล่งอาหารโปรตีน รักษาระบบนิเวศน์ และคงความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำของประเทศไทย