สปส.สุพรรณแจงการให้ความคุ้มครองประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน

ข่าวทั่วไป Monday November 26, 2007 09:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สปส.
ต่อกรณีที่กำนันอำนวย ฉิมพันธ์ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดสุพรรณบุรีและเจ้าของบริษัทพูนทรัพย์ถาวร ซึ่งดำเนินธุรกิจเรื่องข้าวครบวงจรได้กล่าวถึงกรณีที่ลูกจ้างของตนจำนวน 2 รายประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน และตนซึ่งเป็นนายจ้างต้องสำรองค่ารักษาเป็นจำนวนมาก กว่าจะเบิกเงินคืนได้ต้องใช้เวลาหลายวันและได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนที่จ่ายไป
นายชัยวัฒน์ พันธ์พานิช ประกันสังคมจังหวัดสุพรรณบุรี ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุพรรณบุรีนั้นยึดหลักถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นไปตามข้อกฎหมายทุกประการ โดยปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมี 2 กองทุนที่ให้ความคุ้มครอง ได้แก่ กองทุนประกันสังคมให้ความคุ้มครองกรณีลูกจ้างเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายไม่เนื่องจากการทำงานและให้การรักษาอย่างไม่มีเพดานจำกัด โดยนายจ้างไม่ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน ส่วนกองทุนเงินทดแทนให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน กรณีที่นายจ้างไม่ประสงค์สำรองจ่ายค่ารักษาก่อน นายจ้างสามารถส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความ ตกลงของกองทุนเงินทดแทน โดยมีแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) แต่กรณีที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน ให้นายจ้างเป็นผู้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ซึ่งในส่วนภูมิภาคนั้นประกันสังคมจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจ อนุมัติค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานในเบื้องต้นไม่เกิน 35,000 หากเกิน 35,000 บาท แต่ไม่เกิน 85,000 บาท ต้องมีคำวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษาประกอบการอนุมัติ และหากค่ารักษาเกินกว่า 85,000 บาท ต้องนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม โดยวงเงินสูงสุดที่เบิกได้ไม่เกิน 200,000 บาทถ้วน
สำหรับกรณีลูกจ้างของกำนันอำนวย ฉิมพันธ์ ชื่อนายประสูติ พิมพ์จันทร์ เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 ใช้สิทธิจากกองทุนเงินทดแทน โดยคณะกรรมการการแพทย์อนุมัติจ่ายวงเงินสูงสุดในขณะนั้นคือ 85,000 บาท ส่วนลูกจ้างอีกรายคือนายกิมเฮง แจะจันทร์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2550 จากข้อเท็จจริงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานและใช้สิทธิจากกองทุนเงินทดแทนเช่นกัน โดยขณะนี้นายจ้างได้สำรองจ่ายค่ารักษาเป็นเงินจำนวน 113,820 บาทและยังไม่สิ้นสุดการรักษา ถือว่าเป็นวงเงินสูงเกินกว่าอำนาจการอนุมัติของสปส.จังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้นจึงได้ทำหนังสือหารือต่อคณะกรรมการการแพทย์ เพื่อพิจารณาอนุมัติเบิกเงินคืนให้นายจ้างอย่างเร่งด่วนต่อไป
ทั้งนี้ สปส.อยู่ในระหว่างการนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอแก้ไขประกาศในกฎกระทรวงแรงงาน เพื่อขอเพิ่มอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน โดยวงเงินสูงสุดที่เบิกได้ไม่เกิน 300,000 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ