กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
คณะมนุษย์ฯ มรภ.สงขลา สร้างความร่วมมือองค์กรต่างประเทศ จับมือ ม.ซายน์ มาเลเซีย ประชุมเครือข่ายด้านภาษา พร้อมหารือจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ แลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงานภาคสนามทางภูมิศาสตร์
ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทางคณะฯ จัดโครงการประชุมวิชาการเครือข่ายด้านภาษาและภาษาศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยซายน์ มาเลเซีย (Universiti Sains Malaysia)และมหาวิทยาลัยทักษิณ ณ มหาวิทยาลัยซายน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการนำเสนอผลงานวิชาการด้านภาษาและภาษาศาสตร์ของอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยภายในและต่างประเทศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะประสบการณ์และแนวทางการบริหารจัดการงานด้านวิชาการและงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นอกจากนั้น ยังเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยสู่สากล
ผศ.นาถนเรศ กล่าวว่า การประชุมวิชาการเครือข่ายด้านภาษาฯ เป็นผลต่อเนื่องจากการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง มรภ.สงขลา กับ ม.ซายน์ มาเลเซีย ที่ทำร่วมกันไว้เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557 โดยในครั้งนี้ทั้งสององค์กรได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการในหลากหลายมิติ และตกลงความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม โครงการต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการของอาจารย์สาขาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา โดย อ.ศอลาฮุดดีน สมาอูน จากโครงการวิจัยเรื่อง"การศึกษาภาษามลายูในภาษาถิ่นใต้" ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ อ.ฮัสนีดา สมาอูน จากโครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาวิธีการตั้งชื่อของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส" รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ด้าน อ.ตะวัน รัตนประเสริฐ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา กล่าวว่า โอกาสเดียวกันนี้ผู้บริหารคณะฯ ได้ปรึกษาพูดคุยในประเด็นความร่วมมือทางวิชาการกับ ศาสตราจารย์ ดร. Narimah Samat คณบดี School of Humanities, ม.ซายน์ มาเลเซีย ในประเด็น 1. การเชิญเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ในช่วงเดือน ก.ค. 61 ภายใต้หัวข้อ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งทาง School of Humanities ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และยินดีเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุม ซึ่งทางคณะฯ จะประสานงานในรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นระยะ เพื่อเตรียมการโครงการดังกล่าว โดยทาง School of Humanities จะช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ และเสาะหาอาจารย์หรือนักวิจัยมาร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการ 2. การประชุมระดับนานาชาติทางสาขาภูมิศาสตร์ ในช่วงเดือน ส.ค. 61 ซึ่งทาง School of Humanities ได้เชิญชวนและสนับสนุนให้ มรภ.สงขลา มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเป็นเจ้าภาพ เข้าฟังการบรรยาย และนำเสนอผลงานทางวิชาการ ซึ่ง School of Humanities จะส่งรายละเอียดเพิ่มเติมให้ทางคณะฯ ในภายหลังอีกครั้ง
อ.ตะวัน กล่าวอีกว่า 3. โครงการฝึกงานภาคสนามร่วมกัน ซึ่งคณบดี School of Humanities ที่เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิศาสตร์ อธิบายว่าในภาควิชามีลักษณะการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยทั่วไปแล้วนักศึกษาจะฝึกประสบการณ์ภาคสนามทั้งในและต่างประเทศ และเนื่องด้วยคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา มีหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาภูมิสารสนเทศ ซึ่งมีลักษณะการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเช่นเดียวกัน จึงมีแนวคิดทำโครงการปฏิบัติภาคสนามร่วมกันระหว่างสองสถาบัน โดยกำหนดระยะเวลาฝึกภาคสนามให้ตรงกัน และจะสลับสับเปลี่ยนสถานที่ในการฝึก ใช้เวลาในการจัดกิจกรรม 2 สัปดาห์ ประโยชน์ที่ได้คือ นักศึกษามีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และการปฏิบัติงานภาคสนามทางสาขาภูมิศาสตร์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้แก่นักศึกษาของทั้งสองสถาบัน 4. โครงการ English Summer Campเสนอโดย Dr. Raja Rozina BT. Baja Suleiman หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษศึกษา ของ School of Humanities ซึ่งจะจัดขึ้นในปีการศึกษาหน้าเป็นเวลา 5 วัน เพื่อให้นักศึกษาสถาบันต่างๆ ทำกิจกรรมและอยู่ร่วมกัน โดยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และ 5. โครงการประชุมวิชาการReginal Conference ภาควิชาภาษาอังกฤษศึกษา โดยได้เชิญโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา เข้าร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการในเวทีดังกล่าว