กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--วิช กรุ๊ป
ครั้งแรกของโลก ! กับการประชุมระดับนานาชาติ ๑๔ สุดยอดปรมาจารย์ระดับโลกจาก ๑๐ ประเทศ กับโครงการเปิดเผยพระพักตร์ของพระพุทธองค์ ความจริงที่ถูกปิดตายกว่า ๒,๖๐๐ ปีสู่การนำเสนอหลักฐานใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครพิสูจน์มาก่อนบทสรุปเจ้าของโครงการฯแห่งชีวิต โดย อ.ดร.สันติ และ อ.เอริคค่า พิเชฐชัยกุล
จากคำถามที่ว่า "พระพุทธเจ้าทรงมีรูปลักษณะเป็นเช่นไร?" ทำให้อาจารย์ดอกเตอร์สันติ พิเชฐชัยกุล ศิลปินประติมากร นักปั้นรูปเหมือนของไทย ผู้อุทิศแรงกายแรงใจในการศึกษารูปลักษณ์ของมนุษย์ ประสงค์จะหาคำตอบสำหรับคำถามนี้อันเป็นปฐมบทแห่งการเดินทางด้วยพลังศรัทธา สู่เรื่องราวและแรงบันดาลใจที่โลกต้องจารึกการรังสรรค์รูปพรรณสัณฐานเชิงมานุษยวิทยาแบบเสมือนจริงของพระพุทธองค์ ไม่เพียงแค่เป็นงานเอกสิทธิ์อันทรงเกียรติและยิ่งใหญ่ในประเทศไทยเท่านั้น
แต่ยังเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่ง วิธีการจะสื่อคุณลักษณะและสภาวะการบรรลุธรรมของผู้ตื่นรู้ พร้อมกับแสดงรูปลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ที่เป็นจริงด้วยวิธีใด? และการจะหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลผู้ที่ได้มอบมรดกทางปัญญา ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและตำนานมากมายให้กับชาวโลกได้จากที่ไหน? เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องราวที่ได้ผ่านกาลเวลามานานกว่า ๒,๖๐๐ ปี
ด้วยความต้องการสืบค้นข้อมูลและหลักฐานเพื่อนำมารังสรรค์ประติมากรรมรูปปั้นของพระพุทธเจ้าในแบบที่ถูกต้องและแม่นยำในเชิงประวัติศาสตร์โลกมากที่สุด อ.ดร.สันติและอ.เอริคค่า พิเชฐชัยกุล ในฐานะหัวหน้าโครงการการวิจัย จึงเริ่มการเดินทางยังประเทศต่างๆ อาทิ อินเดีย เนปาล สหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายแล้ว ยังได้ซาบซึ้งถึงความเป็นมนุษย์ของพระพุทธเจ้ามากขึ้นรวมถึงทัศนคติและความเชื่อของพระพุทธองค์ในความเป็นจริงของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน ตลอดจนการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์และพฤติกรรมการนุ่งห่ม ซึ่งเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องที่อาจมีอิทธิพลต่อลักษณะทางกายภาพของพระพุทธองค์อีกด้วย
เพราะการค้นหาคำตอบของคำถามสำคัญ จะต้องคำนึงถึงลักษณะทางด้านจิตใจและคำสอนของพระพุทธองค์ให้มากเพราะมีความสำคัญเท่าๆ กับการค้นหารากเหง้าทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และดินแดนถิ่นกำเนิดของพระพุทธองค์อีกด้วย ทั้งนี้ ในระหว่างทำการวิจัย อาจารย์ทั้งสองได้พบกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ที่เกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์ และจากพระคัมภีร์มากมาย และในหลายๆ สิ่งมีความขัดแย้งไม่ตรงกัน
จนถึงบทสรุปที่จะต้องจัดการประชุมเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะ อันเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการจัดสัมมนาระดับนานาชาติ "Rediscovering Gotama" ขึ้นในประเทศไทย โดยมีปรมาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงในระดับสากลของโลก เพื่อร่วมกันเสวนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าในเชิงประวัติศาสตร์และการตอบคำถามสำคัญบางเรื่องจากการเสวนาในครั้งนี้ว่าพระพุทธเจ้ามีพุทธลักษณะเป็นเช่นไร ?
"อันที่จริงแล้วการใช้เวลาในการค้นหาคำตอบมากเพียงใด จะทำให้คำถามนี้ยิ่งมีความหมายมากขึ้นเพียงนั้น คำถามนี้เป็นมากกว่าแบบฝึกหัดการใช้สติปัญญาทั่วไป เพราะทำให้เข้าใจต้นกำเนิดของศาสนาพุทธมากขึ้น รวมทั้งซาบซึ้งใน"องค์พระศาสดาโคตมพุทธเจ้า" มากขึ้นกว่าเดิม" อ.ดร.สันติ กล่าว
งานสัมมนาในครั้งนี้ นับเป็นเกียรติอย่างสูงและเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ได้มีโอกาสต้อนรับ ปรมาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาวิจัย ค้นคว้าด้านพระพุทธศาสนาจนได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับนานาชาติ อาทิ
ดร.โจฮานเนส บรองก์ฮอรสต์ นักภารตวิทยา จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์, ดร.มิลาน รัตนะ ศากยะนักวิชาการด้านพุทธศาสนา และผู้สืบสายตระกูลศากยะของพระพุทธเจ้า จากประเทศเนปาล, ดร.แฮร์รี ฟอร์ก นักภารตวิทยา จากประเทศเยอรมนี, ดร.อารุปราธาน บันโยภาสนักมานุษยวิทยา จากสาธารณรัฐอินเดีย, ดร.โรเบิร์ต เดอคาโรลี นักประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ ภัณฑารักษ์พุทธศิลป์โบราณแห่งสถาบันสมิทโซเนียน จากสหรัฐอเมริกา, ดร.ซูนอิลฮวาง นักวิชาการด้านพุทธศาสนา จากสาธารณรัฐเกาหลี, ดร.สเตฟาน โบมส์ ผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกภาษาคันธารี บาลี และสันสกฤต จากประเทศเยอรมนี, ดร.วิชวาพานีบลอมฟิลด์ นักประวัติศาสตร์ด้านพุทธศาสนาและผู้ปฏิบัติธรรม จากสหราชอาณาจักรอังกฤษ, ดร.โตชิฟูมิ โกโตะ นักภารตวิทยา จากประเทศญี่ปุ่น, ดร.จุนโกะ ซากาโมโตะ โกโตะ นักนิรุกติศาสตร์ จากประเทศญี่ปุ่น, ดร.คริสโตเฟอร์ ไอ. เบ็กวิธ นักประวัติศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา, ซุยชง อู (Ms. Suiqiong Wu) ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธนิกายฉาน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน, มร.สัตยาคัม เซน นักโบราณคดี และภัณฑารักษ์แผนกศิลปะอินเดียโบราณแห่งพิพิธภัณฑ์อินเดีย จากสาธารณรัฐอินเดีย, ผศ. ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ นักอักษรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาวรรณคดีบาลี สันสกฤต พระไตรปิฎกฉบับภาษาจีน และพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากประเทศไทย ร่วมด้วยผู้คิดริเริ่มโครงการ อ.ดร.สันติ พิเชฐชัยกุล ประติมากรด้านจิตวิญญาณ และ อ.เอริคค่า พิเชฐชัยกุล หัวหน้าโครงการวิจัย โครงการร่วมค้นหาพระพัตร์พระพุทธเจ้า ตามประวัติศาสตร์โลกจากเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจของอาจารย์ดอกเตอร์สันติ พิเชฐชัยกุล นักปั้นเจ้าของรางวัลระดับโลกและอาจารย์เอริคค่า พิเชฐชัยกุล นักจิตวิทยา นักเขียน นักวิจัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ผู้มีความฝันและความศรัทธาอย่างแรงกล้าในการที่จะสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่ให้โลกประจักษ์เพื่อฝากไว้บนผืนดินไทย ผืนแผ่นดินธรรม ผ่านบทงานวิจัยสู่การจัดเวทีแลกเปลี่ยนหลักฐานมุมมองความคิดทางวิชาการระดับนานาชาติ
ภายใต้ชื่องาน "Rediscovering Gotama" ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ นับเป็นครั้งแรกของโลกและครั้งแรกในประเทศไทย ที่ ๑๔ สุดยอดปรมาจารย์ระดับโลกจาก ๑๐ ประเทศกับโครงการเปิดเผยพระพักตร์ของพระพุทธองค์ ความจริงที่ถูกปิดตายกว่า ๒,๖๐๐ ปีสู่การนำเสนอหลักฐานใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครพิสูจน์มาก่อนบทสรุปโครงการแห่งชีวิต โดย อ.ดร.สันติ และ อ.เอริคค่า พิเชฐชัยกุล เพื่อเปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดที่จะพาไปสัมผัสและดิ่งลึกลงสู่เรื่องราวจากประวัติศาสตร์สากล อันจะนำไปสู่คำตอบ จากคำถามอันเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของพุทธองค์ในฐานะมหาบุรุษแห่งพุทธศาสดาโลกได้ในที่สุด