กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้มีการลดปริมาณขยะ พร้อมทั้งรณรงค์แก้ไขปัญหาขยะบนบก/ทะเล อย่างยั่งยืน ทั้งต้นทาง/กลางทาง/ปลายทาง เนื่องจากสถานการณ์ ปัญหาขยะบนบกของประเทศไทย ที่มีปริมาณมาก รัฐบาล โดยทส.ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และโดยที่ขยะทะเลซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากขยะบกถึง ร้อยละ 70-80 จึงจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหา รวมถึงไมโครพลาสติก เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและรักษาชีวิตสัตว์ทะเลที่อาจกลืนกินขยะเข้าไป
ในการนี้ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว. ทส. จึงได้เริ่มนโยบาย "ประชารัฐขจัดขยะทะเล" และนำไปสู่มาตรการเพื่อลดปริมาณขยะในทะเล หรือชายหาด โดยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และประชาชน ได้แก่ การรณรงค์เก็บขยะทะเลและชายหาด การจัดระเบียบห้ามสูบบุหรี่บริเวณชายหาด เป็นต้น และที่สำคัญ ประเทศไทย โดย รมว.ทส.ได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระดับอาเซียนเป็นประเทศแรก "เรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน" (Reducing Marine Debris in Asean Region) และ ท่าน รมว.ทส. ได้เป็นประธานเปิดประชุมพร้อมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล รวมทั้งมีปลัดกระทรวงฯ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ เข้าร่วมงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรม เจ ดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์สปา จ.ภูเก็ต โดยที่ประชุมมีความเห็นพ้องที่จะลดขยะที่มาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน และหลังจากนี้ ประเทศไทย โดยรมว.ทส.ได้เตรียมจัดประชุม "เยาวชนอาเซียนรักษ์สิ่งแวดล้อม" เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนให้ตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะ จึงได้ให้รองเลขาธิการอาเซียนฯ เตรียมจัดกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมมีบทสรุปการป้องกันขยะ ลงสู่ทะเล(ตั้งแต่ต้นทาง) 5 ประเด็น ดังนี้
1) ความตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดขยะในทะเล
2) มีกรอบแนวทางการลดปริมาณขยะ รวมถึงกฎ ระเบียบ และการบังคับใช้อย่างจริงจัง
3) การพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการขยะมูลฝอย และการรีไซเคิล
4) การวิจัยและการลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรมในส่วนของวัสดุทดแทน การออกแบบ การแก้ไขปัญหา และวิธีการ (การขับเคลื่อนการตลาด)
5) ประชาชนต้องมีความตระหนัก และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อลดปริมาณขยะ
โฆษกทส. กล่าว