กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--Noname IMC
แพทย์-ผู้ป่วย ชี้ล้างไตทางช่องท้อง ตอบโจทย์คนไทย ลดโหลดรพ. ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาแม้พื้นที่ห่างไกล
แพทย์โรคไต รพ.อยุธยา และประธานชมรมเพื่อนโรคไต ประสานเสียงยืนยันการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้าน (CAPD) สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งทางระบบสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ช่วยลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอและความแออัดในโรงพยาบาล อีกทั้งยังช่วยตอบโจทย์บริบทผู้ป่วยโรคไตในพื้นที่ห่างไกล และช่วงประสบภาวะวิกฤติอุทกภัย ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง
พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังมักพบในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ตัวเลขที่สูงขึ้นยังมากจากการคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ป่วยก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทั่วถึงมากกว่าในอดีต เนื่องจากนโยบาย PD First Policy ที่ให้ผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรกในผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง โดยผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังสามารถช่วยลดปัญหาการขาดแคลนด้านบุคคลากรทางการแพทย์และความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างมาก
พญ.เสาวลักษณ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตมีทัศนคติที่ดีขึ้นกับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) โดยทีมแพทย์ มีการให้ข้อมูลและทางเลือกด้านการรักษาที่มากขึ้น ควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องการป้องกัน เช่น การกินยาชุด หรือยาลูกกลอนจะส่งผลเสียต่อไตอย่างไร รวมถึงการจัดตั้ง Health Group ให้ผู้ป่วยและญาติ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการรักษาซึ่งกันและกันอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยใหม่เห็นว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในด้านการรักษาที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยเปิดใจกว้างและยอมรับ พร้อมเลือกรับการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษาได้ทั่งถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น
"นอกจากนี้ รพ.อยุธยา ยังได้มีการวางแผนสำหรับผู้ป่วยในเหตุการณ์วิกฤติต่างๆ เช่น น้ำท่วม โดยทำคู่มือดูแลตนเองในภาวะน้ำท่วม และมีการส่งน้ำยาล้างไตล่วงหน้าให้กับผู้ป่วย ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่สามารถออกมาได้ ทางโรงพยาบาลได้มีการประสานหน่วยงานต่างๆ ในการขนส่งน้ำยาล้างไต โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย พร้อมเตรียมทีมช่วยเหลือฉุกเฉินไว้ ทั้งมีการสำรองน้ำยาล้างไตไว้สำหรับผู้ป่วยวิกฤติอีกด้วย" พญ.เสาวลักษณ์ กล่าว
ด้าน นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นไตวายอย่าท้อ เพราะยังสามารถทำงานได้และไม่เป็นภาระใครหากรู้จักดูแลรักษาตนอย่างถูกวิธี ซึ่งตนเองเคยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมากว่า 13 ปีและปัจจุบันได้รับการปลูกถ่ายไตแล้ว แต่ตนยังทำหน้าที่ผลักดันและให้ความรู้ด้านสิทธิการรักษา และวิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับผู้ป่วยและสมาชิกชมรมซึ่งมีอยู่มากกว่า 100,000 ราย โดยเฉพาะเรื่องการล้างไตทางช่องท้อง จากการสำรวจพบว่าเป็นวิธีที่ช่วยตอบโจทย์บริบทไทยมากที่สุด เนื่องจากสามารถทำได้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยไม่ต้องสูญเสียเงินในการเดินทางมาโรงพยาบาล ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบผูกขาดอยู่กับสถานพยาบาลถึงสัปดาห์ละ 3 วันเพื่อฟอกเลือดและไม่เป็นภาระของญาติที่ต้องพามาโรงพยาบาลด้วย จึงช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถเข้าถึงบริการได้ 100% แม้แต่ผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ก็สามารถได้รับบริการอย่างทั่วถึง มีน้ำยาล้างไตส่งให้ถึงที่บ้าน ส่วนเรื่องการติดเชื้อไม่ต้องกลัว เพราะการดูแลตัวเองย่อมทำได้ดีกว่าให้คนอื่นมาดูแล แต่เราต้องตระหนักถึงความสะอาดและทำตามขั้นตอนที่แพทย์และพยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด
"เมื่อก่อนคนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตเนื่องจากไม่มีเงินรักษาหรือไม่ก็ต้องล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษา หลังจากการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้สิทธิคุ้มครองรักษาโรคไต (CAPD First Policy) ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้ป่วยก็มีโอกาสในการรักษาและสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น โดยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่ช่วยตอบโจทย์บริบทของคนไทยได้ดีมาก เพราะผู้ป่วยบางคนอยู่บนดอย ห่างจากสถานพยาบาลร่วม 200 กิโล การเดินทางไป-กลับใช้เวลาเกือบทั้งวัน หากเขาต้องเดินทางมาพบแพทย์ทุกสัปดาห์ก็คงไม่ไหว ไหนจะเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา จะเอาเวลาไหนมาทำงานหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น จึงอยากให้แพทย์และผู้เกี่ยวข้องมองถึงพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ และบริบทของผู้ป่วยโรคไตตรงนี้ด้วย ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ และให้ข้อมูลกับผู้ป่วยให้จัดเจน ถูกต้อง และครบถ้วน เพื่อให้ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีในด้านการรักษามากขึ้น ซึ่งทางชมรมเองได้พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น รวมถึงการสร้างความเข้าใจเรื่องวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยทุกราย และให้ความรู้ที่ถูกต้องว่าการติดเชื้อมันไม่สามารถติดได้ง่าย และผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่เสียชีวิตด้วยโรคไต แต่อาจจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น ความดัน เบาหวาน เป็นต้น" ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าว
ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ยังกล่าวให้ความเห็นว่า การล้างไตทางช่องท้องยังช่วยลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลไม่เพียงพอ โดยอัตราส่วนระหว่างพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอยู่ที่ 1:50 คน (ตามมาตรฐาน) ขณะที่พยาบาลที่ดูแลเรื่องการฟอกเลือด (HD) จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียง 1คน :4 เครื่อง : รอบ (ใน 1 วัน สามารถทำได้สูงสุด 4 รอบ หรือ คนไข้16 คนเท่านั้น) ดังนั้น หากไม่มีการล้างไตทางช่องท้อง จะส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ก็จะไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย โดยต้องมีการผลิตเพิ่มอีกมากกว่า 3,500 อัตรา พร้อมเพิ่มศูนย์บริการทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมากให้ครบทุกจังหวัด และอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยตามมา