กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--
ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ประกาศความสำเร็จครบรอบ 10 ปี ด้วยการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อผู้มีบุตรยาก อันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย พร้อมโชว์อัตราความสำเร็จด้านการรักษาผู้มีบุตรยากระดับสากล และความสำเร็จด้วยการคัดกรองโรคพันธุกรรมต่างๆ กว่า 100โรค อาทิ โรคธาลัสซีเมีย และ SMA กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประกาศเดินหน้าเป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้ ในการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปช่วยแก้ปัญหาโรคพันธุกรรมในแถบภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้ทุกครอบครัวมีลูกแบบปลอดโรค พร้อมโชว์รางวัลล่าสุด "Best Medical Practice" จากEuropean Medical Association หรือสมาพันธ์ทางการแพทย์แห่งยุโรป
นายศรายุธ อัสสมกร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. กล่าวว่า ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 จากความร่วมมือของกลุ่มแพทย์ไทยผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และศูนย์จีเนีย จากนครซิดนีย์ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากชั้นนำของประเทศออสเตรเลีย ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ด้านเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก และประสบการณ์การตรวจวินิจฉัยคุณภาพตัวอ่อน (Embryo) ก่อนการย้ายฝากมากที่สุดแห่งหนึ่งในระดับสากล โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้มุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จในระดับสากลมากมายจนนำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศ อาทิ ปี พ.ศ.2554 ประกาศความสำเร็จของการคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนที่ปลอดโรคธาลัสซีเมียและมีเซลล์ที่เข้ากันได้ระหว่างพี่และน้อง เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคธาลัสซีเมียสำหรับพี่ที่เป็นโรคให้หายขาดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน Preimplantation Genetic Diagnosis (PGD) โดยการใช้เทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) สำหรับการตรวจภาวะของโรคธาลัสซีเมียในตัวอ่อน ร่วมกับการตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อระหว่างพี่และน้อง (HLA Matching) ปี พ.ศ. 2556 ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ร่วมกับ บริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด ประกาศความสำเร็จครั้งแรกในเอเชียด้วยการใช้เทคนิคPGD-PCR ร่วมกับ HLA Matching ซึ่งเป็นเทคนิคในการคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนที่ปลอดโรคธาลัสซีเมียและมีเซลล์ที่เข้ากันได้ระหว่างพี่และน้อง พร้อมเก็บเซลล์ต้นกำเนิดอย่างมีคุณภาพเพื่อปลูกถ่ายในการรักษาสำหรับพี่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ ปี พ.ศ. 2557 ประกาศความสำเร็จครั้งแรกในเอเชียด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และเทคนิค
PGD-PCR เป็นเทคนิคในการคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนปลอดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชนิดที่ 1 หรือ SMA type1 ซึ่งเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสองรองจากโรคธาลัสซีเมีย ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และ ปี พ.ศ. 2560 ครั้งแรกและศูนย์แรกของประเทศไทย ที่นำเทคโนโลยีเครื่องเลี้ยงตัวอ่อนแบบอัตโนมัติมาใช้ในประเทศไทย
นายศรายุธ อัสสมกร กล่าวต่อว่า นอกจากการรักษาและให้คำปรึกษาเพื่อผู้มีบุตรยากแล้ว ปัจจุบันทางศูนย์ยังมีให้บริการเก็บตัวอย่างเพื่อการตรวจวินิจฉัยแบบครบวงจร และบริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการก่อตั้งหรือพัฒนาศูนย์บริการผู้มีบุตรยากพร้อมรับบริหารงานคลินิกและห้องปฏิบัติการ อีกทั้งทางศูนย์ยังมีเครือข่ายในระดับภูมิภาคในหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม บังคลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย พม่า ไว้คอยให้คำปรึกษาและบริการอีกด้วย จากความมุ่งมั่นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุด ทางศูนย์ฯ ได้รับคัดเลือกจากEuropean Medical Association หรือสมาพันธ์ทางการแพทย์แห่งยุโรป ให้เข้ารับรางวัล "Best Medical Practice" ในฐานะผู้ให้บริการทางการแพทย์ยอดเยี่ยม ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทางศูนย์ฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะแสดงศักยภาพในฐานะที่เป็นฮับของภูมิภาคเอเชีย เพื่อจะนำมาซึ่งชื่อเสียงสู่ประเทศ และเพื่อเผยแพร่และขยายองค์ความรู้ของคนไข้ที่มีความเสี่ยงกับโรคพันธุกรรมต่อไปในอนาคต