กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
อธิบดีกพร.เผย ขาดรับนโยบาย รมว.แรงงาน สร้างคนทำงานมีทักษะฝีมือ ได้มาตรฐาน ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม ตั้งแต่ 1.0 – 4. 0 เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เน้น ต้องตรงกับความต้องการของตลาด
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังรับนโยบาย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกพร.นั้น ได้มอบหมายให้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งดำเนินงาน โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน ในด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายขับเคลื่อนสู่ไทยแลน 4.0 ซึ่งปี 61 กพร.มีเป้าหมายดำเนินการ 9,200 คน ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม และจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ใน 3 จังหวัดรวมแล้ว 21 แห่ง เป็นภาครัฐ 4 แห่ง ภาคเอกชน 17 แห่ง อาทิ จังหวัดฉะเชิงเทรา มี บริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย จำกัด) เป็นทั้งศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบฯ จังหวัดระยอง มีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดตั้ง "ศูนย์ความร่วมมือ ฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมเหมราช" สำหรับฝึกอบรมในกลุ่มอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช(ระยอง) สำหรับจังหวัดชลบุรีนั้น มีการจัดตั้ง "ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านยานยนต์ หรือ TVET Automotive Hub" ที่ สถาบันพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ชลบุรี (MARA ชลบุรี) โดยศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้จะเน้นยกระดับทักษะแรงงานให้เป็น"ช่างเทคนิค 4.0" ด้วยการส่งเสริมโดยใช้ STEM เป็นฐานการพัฒนากำลังแรงงาน ทั้งที่กำลังอยู่ในภาคการศึกษา และที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมด้วย
นอกจากนี้ กพร.ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานระบบขนส่งทางราง ในระยะ 5 ปี พ.ศ.2561-2565 เพื่อรองรับการส่งเสริมการขยายการลงทุนในเขต EEC ด้วย ตั้งเป้าหมายใน 5 ปี ผลิตบุคลากรระดับวิศวกร ช่างเทคนิค และการปฏิบัติการและบำรุงรักษา จำนวน 4,800 คน พัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะทางสำหรับบุคลากรที่ย้ายเข้ามาสู่การทำงานในระบบขนส่งทางราง จำนวน 6,600 คน รวม 11,400 คน ซึ่งเตรียมเสนอคณะ กพร.ปช. เพื่อขอความเห็นชอบและเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัดนั้น มีเป้าหมาย 9,900 คน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า นโยบายเร่งด่วนอีกส่วนที่เกี่ยวข้องกับกพร.คือ การเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ เน้นย้ำว่าแรงงานกลุ่มนี้ต้องมีทักษะฝีมือ ทักษะด้านภาษา รวมถึงต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้นๆ ด้วย และที่สำคัญเมื่อระดับฝีมือมีมาตรฐานต้องได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 18 อุดรธานี เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินการฝึกอบรมสาขา ผู้ประกอบอาหารไทย อย่างต่อเนื่องเพราะคนในจังหวัดอุดรธานีสนใจไปทำงานในต่างประเทศและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะการไปเป็นพ่อครัว-แม่ครัว เพราะมีรายได้สูงถึง 60,000 – 80,000 บาท ผู้จบฝึกร้อยละ 80 ไปทำงานต่างประเทศ อาทิ นิวซีเลนด์ ญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย อีกร้อยละ 20 มีแผนที่จะเดินทางแต่ต้องหาประสบการอย่างน้อย 5 ปี จึงจะสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังฝึกทักษะด้านภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น หลังจากอบรมแล้วจะทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนไปทำงานต่างประเทศ เพื่อเป็นการการันตีฝีมือ สำหรับผู้ประกอบอาหารไทยที่ญี่ปุ่น ที่ผ่านมา กพร.ไปทดสอบมาตรฐานฯ ในต่างประเทศให้ด้วย ด้านอัตราค่าจ้างในไทยนั้น ปัจจุบันมี 67 สาขาที่มีประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ต่ำสุดจะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไม่น้อยกว่า 320 บาทต่อวันในสาขาช่างบุครุภัณฑ์ ระดับ 1 และสูงสุดไม่น้อยกว่าวันละ 815 บาท ในสาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก ระดับ 2 ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ในการขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand นั้น กพร.เร่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ซึ่งกำหนดให้อาชีพช่างไฟฟ้าเป็นอาชีพแรกที่ถูกกำหนดให้เป็นอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (License) ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถแล้วกว่า 80,000 คน (ณ วันที่ 2 ธ.ค.60)
การพัฒนากำลังแรงงานของประเทศนั้น กพร.ไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังได้ หากแต่ต้องดำเนินการแบบประชารัฐ ร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ ทั้งคนทำงานตั้งแต่ 1.0 – 4.0 ให้สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน สู่เป้าหมายตามนโยบายของรัฐ และการร่วมมือกันจะเป็นรากฐานของความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน อธิบดี กพร.กล่าว