กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กยท. แถลงข่าวการดำเนินการแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพารา เน้นดำเนินการไม่ให้กระทบกับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมี นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการแถลงข่าวฯ ร่วมกับ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ย้ำว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งมาตรการเร่งด่วน เพื่อควบคุมปริมาณยางที่ปลูกในพื้นที่ป่ารวมถึงพื้นที่ไม่เหมาะสม หวังลดปริมาณผลผลิตยางเพื่อให้เกิดความสมดุลของกลไกตลาด
นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งดำเนินการแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อปลูกยางพารา และลดปริมาณน้ำยางพาราจากพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อนำมาฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมโดยเฉพาะกลุ่มนายทุน ดังนั้น เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมปริมาณน้ำยางพาราจำนวนประมาณ 300,000 ตัน/ปี ควบคู่การแก้ไขปัญหากลุ่มราษฎรผู้ยากไร้ จึงได้ประสานงานกับการยางแห่งประเทศไทย สำรวจการถือครอบครอง เพื่อจะนำข้อมูลไปจัดสรรที่ดินทำกิน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)
"มาตรการแก้ไขปัญหาสวนยางพาราในพื้นที่ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดออกมา 6 แนวทาง ได้แก่ 1.) เร่งรัดดำเนินคดีสวนยางพารานายทุนที่อยู่ในพื้นที่ป่า 1.32 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันดำเนินคดีไปแล้ว 160,000 ไร่ 2.) ควบคุมพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดไม่ให้มีการกรีดน้ำยาง 3.) ลดการกรีดยางในพื้นที่รับผิดชอบของ อ.อ.ป. จำนวน 86,000 ไร่ โดยในปี 2560 - 2561 จะดำเนินการลดพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 20,000 ไร่ คาดว่า จะช่วยลดปริมาณน้ำยางได้ประมาณ 1,500 ตัน/ปี และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องปีละ 5% จนกว่าจะสามารถลดพื้นที่ปลูกยางพาราได้ทั้งหมด 4.) เร่งรัดดำเนินการจัดที่ดินทำกินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) สำหรับราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางพาราในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 , 4 , 5 มีพื้นที่ประมาณ 3.6 ล้านไร่ 5.) เร่งรัดดำเนินการ แก้ไขปัญหาราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางพาราในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 , 2 ในรูปแบบสิทธิทำกินแบบมีเงื่อนไข โดยการปลูกไม้ท้องถิ่นผสมผสานกับไม้ยางพารา และ 6.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย จะเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางพารา ตามแนวทางในข้อ 4 และ ข้อ 5" รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. เผยว่า การดำเนินการร่วมกันระหว่าง กยท. และกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องมีการทำโซนนิ่งพื้นที่ปลูกยางที่เหมาะสม เพราะสถานการณ์ราคายาง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการส่งออกยางพาราในรูปวัตถุดิบ ซึ่งระดับราคาถูกกำหนดจากความต้องการซื้อ-ขาย และความต้องการใช้ยางพาราของโลก ซึ่งเราไม่สามารถไปกำหนดความต้องการใช้ได้ เพราะเป็นตัวแปรที่ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการขยายตัวของประเทศผู้ใช้ แต่สิ่งที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ คือ การสร้างสมดุลของปริมาณผลผลิตให้มีความเหมาะสม จากการพยากรณ์การใช้ยางพาราของโลก แต่ละปีจะเติบโตประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ แต่การเพิ่มของปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า เนื่องจากในช่วงปี 2553 ยางพารามีราคาสูงมาก ชาวสวนยางทั้งไทยและต่างประเทศที่สามารถปลูกยางได้ ก็หันมาปลูกยางเป็นจำนวนมาก และช่วงเวลานี้มีที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันมากจึงมีผลต่อราคา
"นโยบายที่รัฐบาลได้มอบไว้ คือ ทำอย่างไรให้สามารถสร้างสมดุลของผลผลิตและความต้องการใช้ให้ได้ และการดูแลเกษตรกรให้ทั่วถึง ส่วนในเรื่องพื้นที่ปลูกยางที่บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ของราชการ เช่น ป่าไม้หรืออุทยาน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ล้านกว่าไร่ จึงเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปดำเนินการควบคุม ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อปริมาณของผลผลิตในแต่ละช่วงปีได้" ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย