กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์เผยความคืบหน้าการออกเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน หลังผ่านการหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และการเปิดรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ต่าง ๆ เตรียมทยอยออกประกาศถือใช้เกณฑ์กำกับเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการดำเนินงานของสหกรณ์ โดยกำหนดกรอบการก่อหนี้จะต้องนำเงินรับฝากจากสหกรณ์อื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินกู้ยืมด้วย การดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่องต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น ส่วนการเปิดรับสมาชิกสมทบจะรับได้เฉพาะบิดา มารดา สามี ภรรยาและบุตรของสมาชิกสหกรณ์เท่านั้น
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการออกหลักเกณฑ์กำกับสหกรณ์ ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และได้เปิดรับฟังความเห็นจากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย และตัวแทนสหกรณ์ต่าง ๆ ขณะนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำหนดวงเงินกู้ยืมหรือค้ำประกันของสหกรณ์ ซึ่งจะใช้บังคับกับสหกรณ์แต่ละประเภทและสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนที่มีทุนดำเนินงานเกินกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 134 แห่ง ในเบื้องต้นจะกำหนดให้สหกรณ์ก่อหนี้ได้ตามหลักเกณฑ์เดิม โดยให้นับรวมเงินฝากจากสหกรณ์อื่นเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินกู้ยืมด้วย แต่ไม่นับรวมเงินรับฝากของสมาชิก และจะออกระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสมาชิกสมทบสหกรณ์ กำหนดคุณสมบัติสมาชิกสมทบให้มีวงสัมพันธ์เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสมาชิก โดยให้รับได้เฉพาะบิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตรของสมาชิกสหกรณ์เท่านั้น หรือเป็นบุคคลในหน่วยงานหรือองค์กรแต่ขาดคุณสมบัติจะเป็นสมาชิก สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์ได้ เพื่อป้องกันการระดมเงินจากแหล่งทุนภายนอกเข้ามาแสวงหากำไรจากดอกเบี้ยของสหกรณ์ รวมถึงกำหนดสิทธิของ สมาชิกสมทบในการขอกู้เงินจากสหกรณ์ได้ไม่เกินมูลค่าหุ้นรวมกับเงินฝากที่มีอยู่ในสหกรณ์
สำหรับเกณฑ์กำกับเรื่องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ จะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ โดยจะกำหนดให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งเป็นไปตามข้อสรุปที่ได้ประชุมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง แต่เพื่อให้สหกรณ์ได้มีการปรับตัวและถือปฏิบัติได้ จะกำหนดอัตราการดำรงฯ เป็นแบบขั้นบันได โดยในปีแรกจะกำหนดอัตราการดำรงฯ ไว้ที่ร้อยละ 1 จากนั้นปีที่ 2 จะปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 2 ปีที่ 3 ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 4 และในปีที่ 4 ใช้อัตราร้อยละ 6 ทั้งนี้ ให้สหกรณ์สามารถนำเงินที่ฝากไว้กับทางชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด มานับรวมเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงของสหกรณ์ได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกณฑ์การลงทุนของสหกรณ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะอนุกรรมการด้านการลงทุนของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ในวันที่ 8 ธันวาคม 2560 นี้ เกี่ยวกับเกณฑ์การลงทุนของสหกรณ์ตามได้มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดเกณฑ์การลงทุนของสหกรณ์ไว้ว่าสามารถลงทุนได้ร้อยละ 20 ของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรอง ซึ่งต้องรอฟังความเห็นจากคณะอนุกรรมการฯดังกล่าว หากไม่เห็นด้วยตามข้อเสนอ จะต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งจนกว่าจะได้ข้อสรุปก่อนจะเสนอเข้า คพช. พิจารณาเห็นชอบ เพื่อออกเป็นประกาศ คพช.เพื่อบังคับใช้ในเรื่องเกณฑ์การลงทุนของสหกรณ์ตามมาตรา 62 (7) ต่อไป
"สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมากำกับขึ้นมาดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงการคลังร่วมกันหารือแนวทางในการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น กรมฯจะเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดโครงสร้างและแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าว และเตรียมยกร่างกฎหมายเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวได้ทันภายในปี 2561 นี้" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว