กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
เนื่องจากขณะนี้ภาคใต้ของประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจมน้ำขึ้นในพื้นที่
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ภาคใต้ตอนล่างพบเหตุคนจมน้ำ 3 ราย เสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งจากการลงพื้นที่สอบสวนสาเหตุการจมน้ำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการจมน้ำเกิดจากพฤติกรรมที่มีความประมาท แม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น แต่ความแรงของกระแสน้ำอาจทำให้หมดแรงและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ความเย็นของน้ำทำให้เกิดตะคริวได้หากแช่น้ำนานเกินไป ทั้งนี้การจมน้ำเกิดขึ้นได้กับคนที่ว่ายน้ำเป็นและว่ายน้ำไม่เป็น ทุกเพศทุกวัย รวมทั้งลักษณะและสภาพแวดล้อมบริเวณแหล่งน้ำ หากเกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วมก็จะอันตรายมากยิ่งขึ้น
สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือลดผลกระทบจากอุบัติเหตุจมน้ำ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก ประชาชนควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตขณะเกิดน้ำท่วม เช่น ขับรถยนต์ จักรยานยนต์ เดิน ว่ายน้ำ ตกปลาหรือหาปลา เด็กไม่ควรลงเล่นน้ำในช่วงนี้เด็ดขาด ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กเล็กอยู่ตามลำพัง อาจเกิดพลัดตกน้ำได้ เพราะน้ำอาจลึก ไหลเร็วและแรงกว่าที่เห็น อาจมีเศษหิน เศษปูนจมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงพื้นผิวถนนที่จมอยู่อาจถูกน้ำกัดเซาะหายไปได้ ประชาชนที่ประกอบอาชีพทางน้ำ ควรเดินทางเป็นกลุ่มและต้องสวมเสื้อชูชีพหรือเตรียมอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยในการลอยตัวในน้ำได้ เช่น ห่วงยาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีการถูกไฟฟ้าดูด การถูกแมลงมีพิษกัดต่อย ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง พิการหรือเสียชีวิตได้ ก่อนน้ำท่วมเข้าภายในบ้านหรือบริเวณบ้านให้รีบขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึงและถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน
ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากอุบัติเหตุจมน้ำที่ต้องระวังในช่วงที่เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ยังต้องเฝ้าระวังโรคต่างๆ ที่มักพบในช่วงน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง ซึ่งเชื้อโรคต่างๆ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422