กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--โอกิลวี่ พับลิครีเลชั่นส์
ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จับสัตว์น้ำได้น้อยลงทำให้มีรายได้ลดลง ปริมาณอาหารทะเลสดในตลาดก็มีขายน้อยลง ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มประมงพื้นบ้าน และประชาชนทั่วไป จึงหันมาให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งกันมากขึ้น เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเลไทยรวมทั้งส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้านให้ยั่งยืน
ล่าสุดองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่าง บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ได้เป็นโต้โผสำคัญในการจัดงาน "จิตอาสาสร้างบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์" ร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง และระดมจิตอาสากว่า 500 คน รวมตัวกันที่สวนสาธารณะแหลมเจริญ จังหวัดระยอง ในเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อสร้างบ้านปลาที่ทำมาจากท่อ PE100 เม็ดพลาสติกของเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งผ่านการรับรองจากสถาบันชั้นนำในต่างประเทศว่า ไม่มีสารปนเปื้อนจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความทนทานและมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปี โดยบ้านปลาที่ประกอบเสร็จแล้วจะส่งมอบให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้านนำไปวางในทะเลเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและสร้างเป็นพื้นที่อนุรักษ์ต่อไป
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากจิตอาสาหลากหลายวัยทั้งนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยบูรพา พนักงานเอสซีจี และประชาชนทั่วไปที่อายุน้อยสุดเริ่มตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้สูงวัยใจรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีอายุมากสุดถึง 68ปี พูดได้ว่า อายุเป็นเพียงตัวเลขไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเหล่าจิตอาสาในการสร้างบ้านปลา เพื่อเป็นบ้านให้กับสัตว์น้ำในทะเลเลย
หนึ่งเสียงจากเยาวชนที่เข้าร่วมงานจิตอาสาสร้างบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ นายกิตติพัฒน์ เลิศไกร นิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเข้ามาร่วมกิจกรรมว่า "เมื่อปีที่แล้ว ผมได้ยินข่าวเกี่ยวกับโครงการบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ ก็รู้สึกสนใจมาก ปีนี้ทราบข่าวว่า เปิดรับสมัครจิตอาสาสร้างบ้านปลาจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทันที ขั้นตอนในการสร้างบ้านปลาไม่ยาก ทุกคนสามารถทำได้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่พวกเราทำในวันนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ทำให้ทรัพยากรใต้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น"
เช่นเดียวกับ นางสาวพลอยรุ้ง มาประเทียบ นิสิตปริญญาโท คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมสร้างบ้านปลาว่า "เราทุกคนกินปลาและสัตว์น้ำ การดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปลาจากท่อ PE100 รู้สึกประทับใจในพลังจิตอาสาของทุกคนที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้บ้านปลาสำเร็จได้ไม่ยาก และถ้าทุกคนร่วมมือกัน เชื่อว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเช่นกัน"
ทางฟากของนักวิชาการผู้คร่ำหวอดในด้านทรัพยากรทางทะเลอย่าง ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ให้เกียรติมาร่วมงานในครั้งนี้ กล่าวว่า "ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางทะเลเสื่อมโทรมลงไปมาก เนื่องจากมีการทำประมงที่จับปลามากเกินไป การประมงที่ไม่ถูกไม่ควร รวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำลดน้อยลง แมื่อเราสร้างบ้านปลาก็เท่ากับเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ปลาและสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นที่หลบซ่อน เป็นที่เพาะขยายพันธุ์ เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้พื้นที่ที่เรานำบ้านปลาไปวางมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีจำนวนประชากรและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทางทะเลมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ชุมชนประมงพื้นบ้านก็จะได้รับประโยชน์เรื่องรายได้จากจำนวนประชากรของปลาและสัตว์น้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตของเขาก็จะดีขึ้น และเราก็จะสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศได้"
ดร.บัลลังก์ กล่าวปิดท้ายว่า "ผมมองว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ชุมชน ประชาชน และเยาวชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และเข้ามาเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยพัฒนาให้การวางบ้านปลากระจายไปทั่วพื้นที่ภาคตะวันออก นับตั้งแต่จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี ไปจนถึงจังหวัดตราด ผมเชื่อว่าถ้าเราร่วมมือกันฟื้นฟูในด้านนี้ ชุมชนในพื้นที่ก็จะเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคตไปจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน"
โครงการบ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ เริ่มวางบ้านปลาหลังแรกในปี 2555 จนถึงปัจจุบันวางบ้านปลาไปแล้วทั้งสิ้น 1,100 หลัง ในทะเลจังหวัดระยองและชลบุรี คิดเป็น 29 กลุ่มประมง สร้างพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า120 ชนิด ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเลและความยั่งยืนให้กับอาชีพประมงพื้นบ้านไทย ทำให้เอสซีจี เคมิคอลส์ มีแผนงานขยายโครงการบ้านปลาไปสู่จังหวัดจันทบุรีและตราดจำนวนอีก 1,000 หลัง เพื่อให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกทั้งหมด โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังและดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้าน เนื่องจากความร่วมมือของกลุ่มประมงในแต่ละพื้นที่เป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยให้ยั่งยืน