กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กทม.
รผว.พนิช รุดหารือผู้ว่าฯ นนทบุรี หารือแนวทางผุดระบบเชื่อมต่อจากรถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ทีสายหมอชิต-ศูนย์ราชการ เพื่อให้การสัญจรประชาชนเชื่อมโยงและครอบคลุม จากกรุงเทพสู่ปริมณฑลอย่างเต็มรูปแบบ แก้ปัญหาจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเงินลงทุนที่น้อย เบื้องต้นตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาร่วมกันระหว่าง กทม.และ จ.นนทบุรี
นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนได้เข้าประชุมหารือร่วมกับนายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนนทบุรี ถึงแนวทางการพัฒนาระบบเชื่อมต่อกับรถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ที สายหมอชิต-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนการดำเนินการเป็นสายที่ 2 หลังจากที่กำลังก่อสร้างสายแรก ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ กำหนดเปิดให้บริการปี 51
ในการหารือครั้งนี้ ด้านจังหวัดนนทบุรีพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงการเชื่อมต่อกับรถโดยสารด่วนพิเศษ สายหมอชิต-ศูนย์ราชการ โดยได้มีการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะกันอย่างกว้างขวาง และมีมติให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี เพื่อกำหนดรูปแบบความร่วมมือ การอำนวยการให้โครงการเดินหน้าอย่างรวดเร็วและดำเนินการควบคู่กับการก่อสร้างรถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ที สายหมอชิต-ศูนย์ราชการ พร้อมร่วมพิจารณาเส้นทางเชื่อมต่อ รวมถึงแผนการลงทุนที่ชัดเจน ให้การเชื่อมต่อการเดินทางเต็มรูปแบบมีประสิทธิภาพครอบคลุม
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากรถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ที สายหมอชิต-ศูนย์ราชการ แล้วเสร็จและเปิดให้บริการ จะเป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอย่างตรงจุด ในงบประมาณลงทุนที่ถูก ซึ่งถนนแจ้งวัฒนะ โดยเฉพาะช่วงผ่านศูนย์ราชการในอนาคตจะเกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักแน่นอนหากไม่เตรียมรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษนี้จะเป็นคำตอบของการลงทุนด้านระบบขนส่งมวลชนที่อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน ในราคาประหยัด ลดปัญหาจราจรได้อย่างแท้จริง
สำหรับรถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ที เส้นทางหมอชิต-ศูนย์ราชการ มีระยะทางทั้งสิ้น 13.5 กิโลเมตร มี 8 สถานี ใช้รถโดยสารวิ่ง 40 คัน ระยะเวลาวิ่งตลอดเส้นทาง 22-35 นาที เส้นทางวิ่งจะเริ่มจากสถานีหมอชิตซึ่งประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินได้ที่สถานีนี้ จากนั้นมุ่งหน้าไปยังสถานีหอวัง ขึ้นทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เข้าถนนแจ้งวัฒนะ จอดที่สถานีหลักสี่ สถานีการสื่อสารแห่งประเทศไทย เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีศาลปกครอง เข้าไปยังศูนย์ราชการและเลี้ยวกลับออกถนนแจ้งวัฒนะ ไปยังสถานีกรมการกงสุลและสิ้นสุดที่สถานีคลองประปา คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 56,000 คนต่อวัน ระบบตั๋วโดยสารแบบ Contactless Smart Card ใช้งบประมาณลงทุน 1,670 ล้านบาท โดยกรุงเทพมหานครได้ตั้งงบลงทุนเบื้องต้นในปีงบประมาณ 2551 สำหรับโครงการนี้ไว้แล้ว
สำหรับแนวทางความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนนทบุรีในการพัฒนาระบบเชื่อมต่อโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษสายหมอชิต-ศูนย์ราชการ นั้น อาจเป็นการร่วมลงทุนกันตลอดเส้นทาง หรือแบ่งระยะทางวิ่งในพื้นที่ตนเอง ส่วนเส้นทางที่จะเชื่อมต่อสามารถกำหนดขึ้นได้หลายเส้นทาง เช่น เส้นทางเชื่อมเข้าไปยังเมืองทองธานีหรือศูนย์การประชุมอิมแพค มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช การต่อขยายไปยังห้าแยกปากเกร็ด หรือท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเส้นทางอื่นที่ผ่านศูนย์ธุรกิจ ที่อยู่อาศัยจนถึงการเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งอื่นก็ได้ ซึ่งคณะกรรมการจะร่วมกันพิจารณากันต่อไป