กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ไอทูซี คอมมิวนิเคชั่นส์
วิทยาลัยดุสิตธานี จัดสัมมนาใหญ่ Gracious Hospitality & Tourism International Conference 2017 กูรูระดับสุดยอดจากนานาชาติทั้งไทย อิตาลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ชี้ "บิ๊กดาต้า" และการพัฒนาองค์ความรู้ มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการ ในอนาคต โดยต้องผสมผสานให้เข้ากับมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ และสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการให้บริการแบบมีอัธยาศัยไมตรีในยุค 4.0 รวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.สาโรจน์ พรประภา อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวในงานสัมมนา Gracious Hospitality & Tourism International Conference 2017 ว่า ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมแบบพลิกผันเช่นในปัจจุบัน ผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ทั้งภาคธุรกิจและสถานศึกษา จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้หลุดพ้นจากผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับตัวไม่ทัน
"ในด้านของงานบริการนั้น เราคิดว่าการสร้างบรรทัดฐานของอัธยาศัยไมตรีแบบสากลในยุค Hospitality 4.0 ที่ระบบสื่อสารและสังคมอินเทอร์เน็ตส่งผลอย่างมากต่อการประเมินและตัดสินใจของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการนั้น เป็นความท้าทาย โดยอุตสาหกรรมบริการ อาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยว จะต้องมีกลยุทธ์ในการรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในขณะนี้ได้อย่างกลมกลืน สมดุล และดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในอนาคต" ดร.สาโรจน์ กล่าว
นายศิรเดช โทณวณิก ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กลุ่มบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมบริการนั้น นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์แล้ว สิ่งสำคัญก็คือการทำทุกอย่างจากใจจริง ต้องการให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งดีๆ อย่างแท้จริง และไม่ใช่เฉพาะกับบุคคล แต่ต้องคิดดีกับชุมชนกับสังคมด้วย เช่น ในกระบวนการผลิตอาหารนั้น ไม่ใช่เพียงแค่คิดว่าจะต้องผลิตอาหารจากวัตถุดิบชั้นดี มีคุณภาพ แต่ต้องมองไปถึงขั้นปลายว่า อาหารที่เหลือจะได้รับการจัดการอย่างไร จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชุมชน อย่างไรบ้างหรือไม่ เช่นนี้จึงจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายเปาโล กุชเชีย President of Gambero Rosso Holding ผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารโลก จากประเทศอิตาลี กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคของข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ ดังนั้น คลังข้อมูลหรือ Big Data ที่จะสามารถวิเคราะห์ผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยในช่วงของการเปลี่ยนผ่านระหว่างยุค จะต้องใช้ข้อมูลในอดีตและประสบการณ์ที่สั่งสมมา เป็นฐานในการประเมินอนาคต แล้วใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ ประกอบเข้ากับความสามารถในการคาดการณ์อนาคต จึงจะกำหนดกลยุทธ์ได้อย่างไม่ผิดพลาด
นายโยชิกิ ซือจิ President 0f Tsuji Culinary Institute จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า สิ่งที่สถาบันสอนทำอาหารหลายแห่งยังทำกันอยู่ก็คือ สอนให้ผู้เรียนทำอาหารแบบท่องจำ จำสูตร จำวิธีการปรุง ซึ่งตนเห็นว่าจะไม่เกิดการสร้างสรรค์เท่าที่ควร ดังนั้น สถาบันของตนจะเน้นการทำจากแรงบันดาลใจ จากความเข้าใจในผู้บริโภค เข้าใจในวัตถุดิบแต่ละชนิดอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบอาหารมีอิสระ และสร้างสรรค์เมนูต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากกว่า
"ทิศทางของอุตสาหกรรมอาหาร ผมคิดว่าจะต้องผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับการบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยจะต้องมีหลักสูตรเฉพาะด้าน เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน" นายโยชิกิกล่าว
ด้าน ดร.แอคเนส จิบอรอ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัย พอล โบคุส จากประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า กุญแจแห่งความสำเร็จของอุตสาหกรรมบริการคือการสร้างความสุข ความสบายใจให้กับผู้รับบริการ เช่น ด้วยอาหารคุณภาพดี รสชาติดี และการบริการที่ดี อีกทั้งต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่