กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--อวตารเวิร์ลมีเดีย
สถาบันอาร์แอลจี มุ่งมั่น ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการทักษะพัฒนาสมอง Executive Functions (EF) สู่ครูปฐมวัยและผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับการตอบรับและร่วมมือขับเคลื่อน เกินคาดหมาย เพราะผู้เกี่ยวข้องพิสูจน์ได้ว่า สามารถพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตของเด็กไทยได้จริง
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ในฐานะ องค์กรภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ผู้ขับเคลื่อนองค์ความรู้ และผู้จัดงานงาน เวทีวิชาการ EF Symposium 2517 กล่าวว่า งานครั้งนี้ได้รับความสนใจ จากบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมรับฟังการถ่ายทอดความก้าวหน้าทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ แจ้งความคืบหน้าของการปฏิบัติงาน และเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน นับพันคน ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง
นอกจากงานนี้ อาร์แอลจี ยังได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับ EF อีกหลากหลาย อาทิ ปาฐกถาพิเศษ โดยรองนายกรัฐมนตรี ให้แนวทางและนโยบายต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กไทย เพื่อสร้างอนาคตสังคมไทยที่แข็งแกร่ง, เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักวิชาการและบุคลากรด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้านเด็กวัยประถมศึกษา และด้านเยาวชนวัยรุ่น ผู้บริหารนโยบายด้านเด็กปฐมวัยทุกระดับจากภาคส่วนต่างๆ ,เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เฉพาะกลุ่ม สำหรับครู บุคลากรสาธารณสุข ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น EF-Facilitator ผู้อำนวยการโรงเรียนและศึกษานิเทศก์ ฯลฯ
หลังการดำเนินการมา 3 ปี สามารถกล่าวได้ว่า ได้ขยายต่อชุดความรู้ Executive Functions (EF) ไปในเด็กปฐมวัย ทั้งท้องถิ่น ภูมิภาคและส่วนกลาง, ตลอดจนผู้บริหารการศึกษาและครูปฐมวัยระดับแกนนำ จากโรงเรียน,ผู้นำชุมชน และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสนใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัย , พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้อย่างต่อเนื่องและนำไปขับเคลื่อนในวงกว้างเกินกว่าความคาดหมาย
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวว่า นับตั้งแต่ไทยได้เห็นความสำคัญของทักษะพัฒนาสมองดังกล่าว และสสส.ได้ให้การสนับสนุนมาใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยมาตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ สร้างเครื่องมือ และ เครือข่ายขับเคลื่อน พบว่า ในปีที่3 นี้ การดำเนินการก้าวหน้าขึ้นมาก ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เครือข่ายได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ราชภัฎ ได้มีการนำไปปฏิบัติจริง ได้เห็นวิธีการนำไปใช้ชัดเจน และเห็นผลชัดเจนขึ้น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง Excutive Functions กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า จากที่เห็นเครือข่ายมาร่วมงานกันมากมาย ยืนยันได้ว่าสถาบันมาถูกทางแล้ว EF ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนไทย ยุทธศาสตร์การทำงานของโครงการที่ทำงานร่วมกันหลายแบบทั้งในรูปเครือข่าย วิชาการ จัดการองค์ความรู้ และการร่วมมือกับต่างประเทศนั้น ได้รับผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ และสิ่งที่ควรทำต่อไปคือ ต้องหาทางกำกับและขยายผลเป็น Impact หรือ Effective ระยะยาวอย่างแท้จริง และนอกจากส่งเสริมตัวบวกแล้วต้องขจัดตัวลบด้วย และเห็นว่าการพัฒนา EFในเด็กนั้น ต้องควรเป็นชุมชุน และภาคีเครือข่าย ส่วนอาร์แอลจี ควรมุ่งสนับสนุนทางด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง และงานข้างหน้ายังมีต้องทำอีกเยอะ
นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 กล่าวในฐานะผู้ขับเคลื่อนองค์ความรู้ EF ในประเทศไทย และผู้กำกับดูแลเครือข่ายครูปฐมวัย กล่าวว่า หลังให้ความรู้เรื่อง EF แก่ ครูปฐมวัย กลุ่มโรงเรียน สพฐ. ชายแดน ตาก เขต2 ทั้ง 5 อำเภอ และให้นำไปจัดการเรื่องการเรียนการสอน โดยกลุ่มเป้าหมายในโครงการส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส จากเดิมที่ ขี้อายไม่กล้าแสดงออก ไม่มีเป้าหมายในชีวิต เสี่ยงยาเสพติด และรับมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ได้ หลังการนำมาใช้ 1เทอม พบว่าเด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น มีเป้าหมายชีวิต มีทักษะในการทำงาน และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดีขึ้น
หลังจากการประชุมครั้งนี้ ทางเครือข่ายก็จะกลับไปเรียนรู้ร่วมกัน แต่ละโรงเรียนค้นพบอะไรบ้าง และตนเองเห็นว่าเครือข่ายต้องเริ่มดำเนินการด้าน EF ตั้งแต่ในครรภ์ ให้พ่อแม่มีส่วนร่วม สนับสนุน พัฒนาการเด็กจะได้ดีขึ้น และได้พยายามเชื่อมกิจกรรมEFทั้งหลาย เข้าสู่หลักสูตรปฐมวัย เพื่อที่ครูจะได้ไม่เหนื่อย และ หากพื้นฐานปฐมวัยดีขึ้น ก็ควรทำต่อเนื่องถึงมัธยมต้น
"โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่าEF จะเป็นเหมือนแสงสว่างและสามารถบรรลุเป้าหมายได้ไม่ยากนัก เพราะว่าไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย เพียงแค่ครูรู้วิธีการและเป้าหมาย เชื่อว่าถ้าครูฝึกเยอะๆ ถ่ายทอดจนเด็กมีทักษะพื้นฐานครบถ้วน เด็กก็จะมีเป้าหมายชีวิต รู้จักควบคุมอารมณ์ แยกถูกผิด ก็จะเป็นคนคุณภาพ การอบรมธรรมมะ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ก็ไม่จำเป็นต่อไป"
EF (Executive Functions) เป็นทักษะทางสมอง ที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต การพัฒนาทักษะควรเริ่มตั้งตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยพัฒนาทักษะ 9 ด้าน ได้แก่ 1.ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน 2.ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง 3.ทักษะการยืดหยุ่นความคิด 4.ทักษะการใส่ใจจดจ่อ 5.การควบคุมอารมณ์ 6.การประเมินตัวเอง 7.การริเริ่มและลงมือทำ 8.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ และ9.การมุ่งเป้าหมาย