กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ขณะนี้ที่ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้พื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล นราธิวาส นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี นั้น เกิดน้ำท่วมสูง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์มีความห่วงใยสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้นายเชิดชัย พรหมแก้ว และนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยสหกรณ์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดลงพื้นที่ เพื่อเยี่ยมเยียนสมาชิกสหกรณ์ที่ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมจัดส่งถุงยังชีพ ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำปลา น้ำมันพืชและสิ่งของอุปโภคบริโภคไปมอบให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสหกรณ์จังหวัดในภาคใต้ถึงผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้เบื้องต้น พบว่า เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา จังหวัดนครศรีธรรมราชยังมีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน น้ำในคลองทุกสายเอ่อล้นและมีกำลังแรงมาก และอาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลันได้ เบื้องต้นมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 22 อำเภอ มีสมาชิกสหกรณ์ได้รับความเดือดร้อน 8,428 ครัวเรือน จังหวัดตรัง 8 อำเภอ สมาชิกสหกรณ์ 860 ครัวเรือน จังหวัดสงขลา 16 อำเภอ สมาชิกสหกรณ์ 17,459 ครัวเรือน จังหวัดพัทลุง 11 อำเภอ สมาชิกสหกรณ์ 8,372 ครัวเรือน จังหวัดปัตตานี 12 อำเภอ สมาชิกสหกรณ์ 3,028 ครัวเรือน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 19 อำเภอ สมาชิกสหกรณ์5,060 ครัวเรือน จังหวัดนราธิวาส 13 อำเภอ สมาชิกสหกรณ์ 4,141 ครัวเรือน สมาชิกกลุ่มเกษตรกร 94 ราย จังหวัดยะลา 8 อำเภอ สมาชิกได้ความเดือดร้อน 700 ครัวเรือน ขณะที่จังหวัดสตูล 3 อำเภอ สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าไปกรีดยางได้ เนื่องจากพื้นดินยังชุ่มและมีฝนตกพรำอย่างต่อเนือง
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้พิจารณาถึงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิกสหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกรที่ประสบภัยดังกล่าว โดยมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นสื่อกลาง ในการประสานความช่วยเหลือจากขบวนการสหกรณ์ทั้งประเทศที่บริจาคอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็น ส่งไปช่วยเหลือสมาชิกผู้ประสบอุทกภัย สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ที่ประสบอุทกภัยและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ไม่สามารถชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้ จะได้รับการพักชำระหนี้โดยรัฐบาลจะจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสมาชิก ส่วนการบรรเทาหนี้สินของสหกรณ์ในพื้นที่ประสบอุทกภัย และเป็นลูกหนี้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ หากได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจสหกรณ์ ขาดรายได้ส่งชำระหนี้ คืนกองทุนฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะพิจารณาขยายเวลาการขำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 1 ปี
นอกจากนี้ยังมีมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรวงเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 50 ล้านบาท ให้สหกรณ์ในพื้นที่ประสบอุทกภัยกู้ยืมเพื่อนำไปให้สมาชิกกู้ยืมต่อเพื่อฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด และจัดทำโครงการเพื่อฝึกอบรมซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์อื่นๆ และโครงการสร้างอาชีพแก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อจัดหาอาชีพสร้างรายได้เสริมในระยะสั้น บรรเทาปัญหาค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ