กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของตนทั้ง 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมหม่อนไหม สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ณ กรมชลประทาน สามเสน โดยได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานได้ยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นหลักในการขับเคลื่อนงาน ยึดมั่นการทำงานเพื่อประชาชน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักภูมิสังคม และภูมิศาสตร์ ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนขยายผลในนโยบายเดิมที่ดีและเห็นผลของกระทรวงเกษตรฯ ให้ประสบผลสำเร็จ โครงการใดที่ยังขาดไม่สมบูรณ์จะเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อช่วยประชาชนให้ลดความเหลื่อมล้ำตลอดทั้งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยจะนำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากำหนดเป็นกรอบการแผนสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สถาบันเกษตราธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจในการจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมโดยน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ตลอดทั้งรวบรวมทฤษฎีกว่า 40 ทฤษฎี ของรัชกาลที่ 9 นำมาพัฒนาเป็นหลักสูตร เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในกระทรวงเกษตรฯ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความพอเพียง นำไปเป็นหลักในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต ตลอดทั้งถ่ายทอดไปสู่สังคมต่อไป
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในเบื้องต้น คือ การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้เดินทางมาที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center) หรือ SWOC ของกรมชลประทาน เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ตลอดทั้งการเตรียมการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับภัยแล้ง เนื่องจากพื้นที่ฝนตกในเขตชลประทานสามารถควบคุมบริหารจัดการน้ำได้ แต่พื้นที่นอกเขตชลประทานจะควบคุมยาก จึงต้องขอความร่วมกับทุกจังหวัดเพื่อหาแนวทางเก็บกักน้ำในพื้นที่ของชาวบ้านให้มากที่สุด เพื่อรองรับให้เกษตรกรในช่วงหน้าแล้งด้วย ทั้งนี้ ในส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ กรมชลประทานได้มีการเตรียมความเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ให้เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนไว้แล้ว โดยเป็นเครื่องสูบน้ำ จำนวนทั้งสิ้น 380 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 180 เครื่อง รถสูบน้ำ 5เครื่อง เครื่องจักรกลสนับสนุน 101 เครื่อง และสะพานเหล็ก 1 ชุด พร้อมทั้งให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย รายงานสถานการณ์น้ำต่อผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.60) นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) พร้อมด้วย รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) และอธิบดีกรมชลประทาน (นายทองเปลว กองจันทร์ ) จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัยและพบปะให้กำลังใจพร้อมทั้งมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุกภัยในพื้นที่ จ.ตรัง ด้วย