กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังอนุญาตให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้เข้าพบ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเข้าพบเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องที่จะเป็นประโยชน์ต่อความยั่งยืนทางอาชีพการทำสวนยางและอุตสาหกรรมยางของประเทศ โดยผู้แทนได้นำเสนอข้อปรับปรุงเพิ่มเติม ซึ่งทางสมาคมคิดว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเกษตรกร พื้นที่การปลูกยาง และอุตสาหกรรมยางต่าง ๆ สมควรจะมีการร่วมกันพัฒนา เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อใช้ในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และการยางแห่งประเทศไทย มีความตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นผลสัมฤทธิ์
ทั้งนี้ สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปยางพาราไทย ได้แก่ 1) การปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสมาคมดังกล่าวดูแลเกษตรกรรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนหลายแสนคน จึงเสนอให้ปฏิรูปตัวเอง โดยใช้หลักการให้เกษตรกรรายย่อยต้องพึ่งพาตนเองได้ และอยู่อย่างพอเพียง รวมถึงต้องลดการขอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ 2) การปฏิรูปสวนยาง ให้เปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น โดยเพิ่มพื้นที่การปลูกพืชอื่น ๆ เช่น การปลูกพืชแซมยาง 3) ปฏิรูปการผลิตและการแปรรูป ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ชาวสวนยาง เพื่อรวบรวมน้ำยางมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และถ้ามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นก็จะสามารถทำการตลาดได้ และ 4) ปฏิรูปการตลาด โดยลดพื้นที่ในการปลูกยาง ไม่จำเป็นต้องปลูกยางเพียงอย่างเดียว จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนพืชอื่นทดแทน ขณะเดียวกันขอให้มีการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงการตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลแนวทางที่สมาคมเสนอมา ให้มีรูปแบบที่มีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้การทำสวนยางรายย่อยให้มีความยั่งยืน และเกิดผลในการปฏิบัติ จึงได้มอบหมายให้ นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ในฐานะที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าเป็นประธานคณะทำงาน โดยกระทรวงเกษตรฯ และสมาคมจะเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาร่วมในคณะทำงานต่อไป
นอกจากนี้ สมาคมยังได้มีข้อเสนอเพิ่มเติม ได้แก่ 1) ขอให้มีตัวแทนเกษตรกรรายย่อยเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเรื่องยาง 2) ขอมีส่วนร่วมในการนำเสนอกลยุทธเพิ่มเติมที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี เป็นผลสัมฤทธิ์และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สามารถปฏิบัติได้จริง และ 3) อยากให้มีการปรับปรุงระเบียบภายในของการยางแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 49(5) กรณีกฎหมายให้สามารถนำเงินค่าทำเนียมการนำออกยางร้อยละไม่เกิน 7 ไปเป็นสวัสดิการให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง จึงอยากเสนอให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยรวมถึงผู้กรีดยางได้รับประโยชน์จากเงินก้อนนี้ด้วย แต่เป็นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมจากภาคเกษตรกร แต่ไม่ต้องการให้เป็นการให้แบบสงเคราะห์อย่างเดียว เพื่อให้เงินกองทุนเติบโตขึ้น