กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าในสภาพแวดล้อมสังคมปัจจุบันผู้ต้องขังพ้นโทษอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการทำงาน และสุ่มเสี่ยงจะกลับไปทำผิดอีกครั้ง เพื่อลดปัญหาอันอาจเกิดขึ้นในอนาคต และให้โอกาสกับผู้ที่เคยกระทำผิดปรับปรุงตนเอง ได้มีงานทำและมีรายได้ดูแลครอบครัว สามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลในสังคมที่ดีขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาขาดแคลนคนทำงานในบางสาขาอาชีพ ลดการพึ่งพาแรงงานเพื่อนบ้าน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือเพิ่มโอกาสในการมีงานทำของกลุ่มคนในทุกเพศ ทุกวัย จึงได้ดำเนินการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ เพื่อฝึกอาชีพเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถ เตรียมความพร้อมทางด้านจรรยาบรรณในวิชาชีพเพื่อเข้าสู่กระบวนการทำงาน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่ต้องการของตลาด หรือสามารถประกอบอาชีพอิสระได้
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่ากพร. ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ใช้แนวทางประชารัฐประสานความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตลอดจนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน คือกรมการจัดหางาน ในการจัดฝึกอบรมในเรือนจำในจังหวัดต่างๆ การฝึกอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ พร้อมสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการแนะแนวอาชีพและการหางานทำ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมจะมีตั้งแต่ 18-30 ชั่วโมง อบรมรุ่นละ 20 คน สาขาที่ทำการฝึก ส่วนใหญ่จึงเป็นสาขาอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น ผู้ต้องขังหญิง การแต่งหมอนผ้า การนวดเท้าเพื่อสุขภาพ การประกอบอาหารไทย ส่วนผู้ต้องขังชาย ก็จะเน้นไปทางด้านอาชีพช่าง เช่น ช่างบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศในบ้านและพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อมผลิตภัณฑ์งานเหล็ก ช่างเครื่องเรือนไม้ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ช่างก่ออิฐฉาบปูน ในปี 2560 ได้ดำเนินการฝึกอบรมจำนวน 7,288 คน.ส่วนในปี 2561 วางเป้าหมาย 2,460 คน
"กิจกรรมที่กพร.ดำเนินการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง เป็นกระตุ้นเตือนให้สังคมได้รับรู้เกี่ยวกับการให้โอกาสผู้ต้องขัง ด้วยการให้งานทำเป็นการคืนคนดีสู่สังคม โดยผู้ต้องขังที่ได้การพัฒนาทักษะฝีมือจะมีศักยภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งบางคนมีความหลากหลายทางด้านช่างเนื่องจากได้รับการพัฒนาในช่วงถูกกุมขัง รวมถึงมีความพร้อมทางจิตใจในการทำงานเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว และมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ต้องขังเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่กพร.ต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือให้มีงานทำเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด ทหารบาดเจ็บและทุพพลภาพ ชนกลุ่มน้อย คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ แรงงานนอกระบบ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" อธิบดีกพร.กล่าว