กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับ นายแพทย์ ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยผลสำรวจ โพล เรื่อง ความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน จำนวนทั้งสิ้น 1,196 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 5 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 82.1 คิดว่าจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายเข้มงวดกวดขัน ห้ามเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ ในขณะที่ร้อยละ 17.9 คิดว่า ไม่จำเป็น
เมื่อสอบถามถึง 5 อันดับแรกที่คุณคิดว่า การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชนควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด พบว่า ส่วนใหญหรือร้อยละ 74.4 เป็นหน้าที่ของตำรวจ รองลงมา คือ 64.3 เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ร้อยละ 40.8 เป็นหน้าที่ของโรงเรียน ครู ร้อยละ 37.3 เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม และร้อยละ 33.4 การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชนควรเป็นหน้าที่ของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)
นอกจากนี้ การสอนทักษะการใช้ถนนอย่างปลอดภัยในทุกช่วงวัยเพื่อป้องการอุบัติเหตุทางถนน เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรลงทุน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.3 ระบุ ควรลงทุน ในขณะที่ ร้อยละ 11.7 ระบุ ไม่ควรลงทุน เพราะ มีป้ายเตือนอยู่แล้ว เป็นต้น ที่น่าสนใจ คือ ความคิดเห็น ประเทศไทย ควรมีสถาบันวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำซาก พบว่า เกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 98.3 เห็นด้วย ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 1.7 ไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม 5 อันดับแรกที่คุณคิดว่า ถ้ามีการลงทุนด้านความปลอดภัยทางถนน ลดอุบัติเหตุ รัฐบาลควรลงทุนในด้านใดบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.4 ระบุ ลงทุนให้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน รองลงมา คือ ร้อยละ 47.4 ระบุ ลงทุนเทคโนโลยีการบังคับใช้กฎหมาย กล้องตรวจความเร็ว ร้อยละ 39.2 ระบุ ลงทุนหน่วยสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 37.7 ระบุ ลงทุนฐานข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ ในขณะที่ ร้อยละ 29.9 ระบุ ลงทุนให้หน่วยงานจัดการพื้นที่มีความเข้มแข็ง