กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ในภาพจากซ้ายไปขวา (แถวหลัง)
พันตำรวจตรีประพล มงคลกุล สารวัตรจราจร กองแผนงานกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ร.ต.ท. ประวิทย์ ภูเงินงาม รองสารวัตร งานสายตรวจ2 กองบังคับการตำรวจจราจร
นายดิลก เลิศเกรียงไกรยิ่ง กรรมการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
นายอรรถ เหมวิจิตร รองประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
นางสาวอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย สำนักงานเขตคลองเตย
ซิสเตอร์ ดร. พัชรา นันทจินดา ผู้อำนวยการโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี
นายชาญณรงค์ ไวยพจน์ ที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนักเรียนที่เข้าร่วมประกวดในโครงการทั้งหมด
บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เปิดตัวโครงการ "Childvoice to Safety - ผู้ใหญ่จะทำอย่างไร เมื่อเห็นภาพถ่าย 'การเดินทาง'ของหนู?" หวังช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนนและปลูกฝังวัฒนธรรมการเดินทางอย่างปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย โครงการ 'Childvoice to Safety' คือส่วนหนึ่งของโครงการ "School Road Safety – ปลอดภัยทุกย่างก้าวจากบ้านถึงโรงเรียน" เปิดตัวเป็นโครงการนำร่องร่วมกับโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ คลองเตย ในปีพ.ศ. 2559 โดยโครงการนี้ถือเป็นการสานต่อเป้าหมายของเชลล์ที่ต้องการเติมสุขให้ทุกชีวิต ด้วยความตั้งใจเพื่อให้คนที่เรารักกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยทุกวัน
'โครงการปลอดภัยทุกย่างก้าวจากบ้านถึงโรงเรียน' มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้เกิดความตระหนักรู้และสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนโดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษา ผู้ปกครอง และครู นอกเหนือจากที่ได้สร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยให้กับคนในองค์กรของเชลล์เองแล้ว นอกจากนี้ โครงการยังต้องการจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การเดินทางที่ปลอดภัยของเด็กๆ โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดให้มีการฝึกอบรมครูและนักเรียน รวมถึงครอบครัวของนักเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน 'โครงการปลอดภัยทุกย่างก้าวจากบ้านถึงโรงเรียน' มุ่งหวังที่จะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน และเป็นต้นแบบการให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนแก่โรงเรียนอื่นๆ และองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนต่อไป
นายอรรถ เหมวิจิตร รองประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "ความปลอดภัยเป็นนโยบายหลักของเชลล์ เช่นเดียวกับเรื่องความปลอดภัยทางท้องถนนซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เราเชื่อว่าการมอบความรู้ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนแก่นักเรียนและครอบครัว จะช่วยปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ถนนอย่างปลอดภัยตั้งแต่อายุยังน้อย และส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยบนถนนกับคนไทยยุคใหม่อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม"
นายอรรถกล่าวเสริมว่า "โครงการ 'Childvoice to Safety' คือช่องทางให้นักเรียนได้ส่งเสียงสะท้อนถึงความกังวลและความคิดเห็นเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนในชุมชนของพวกเขา เด็กๆ มีศักยภาพที่จะเป็นตัวแทนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และในระยะยาว พวกเขายังสามารถช่วยยกระดับความปลอดภัยและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย"
โครงการ 'Childvoice to Safety' แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้:
Baseline Assessment: เก็บข้อมูลเบื้องต้นก่อนดำเนินโครงการ
Interventions: กิจกรรมให้ความรู้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน
Post Assessment: เก็บข้อมูลประเมินผลหลังจบกิจกรรม
Impact Assessment: เก็บข้อมูลผลกระทบของโครงการ
ระยะแรกของโครงการคือการมอบความรู้และทักษะเบื้องต้นเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน เช่น กฎจราจรพื้นฐาน การสังเกตถึงอันตรายบนถนนและวิธีการหลีกเลี่ยง การใช้ทางเท้าและทางข้ามอย่างปลอดภัย และวิธีการเดินทางอย่างปลอดภัยระหว่างบ้านและโรงเรียน และภายในบริเวณโรงเรียน จุดมุ่งหมายของระยะแรกนี้คือการปลูกฝังให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยบนท้องถนน และเพื่อให้ความรู้และเสริมทักษะที่จำเป็นในการเดินทางอย่างปลอดภัยให้แก่นักเรียน เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลตนเองเมื่อต้องเดินทางบนท้องถนน
ระยะที่สองของโครงการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ส่งเสียงสะท้อนถึงมุมมองที่พวกเขามีต่อความปลอดภัยบนท้องถนนและแนวทางการพัฒนา ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของครูและผู้ปกครองอาสา นักเรียนจะถ่ายรูปอันตรายหรือความเสี่ยงบนท้องถนนที่พวกเขาพบระหว่างการเดินทางจากบ้านและโรงเรียน พูดคุยถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และเสนอแนวทางแก้ไข โดยระหว่างขั้นตอนเหล่านี้ นักเรียนจะได้รับการกระตุ้นให้ขยายมุมมองเพื่อครอบคลุมไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับความปลอดภัยในชุมชนของตนเอง เช่น ผู้บริหารโรงเรียน ตำรวจจราจร และผู้บริหารส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับโดยองค์การอนามัยโลกให้เป็นประเทศที่มีถนนที่อันตรายที่สุดอันดับสองของโลก รองจากประเทศลิเบีย ด้วยอัตราประมาณการณ์การเสียชีวิต 24,000 คนต่อปี นอกจากนี้ สถิติจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ยังชี้ว่า มีเด็กที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 2,600 คนต่อปี เฉลี่ยสูงถึง 7 คนต่อวัน ในขณะที่จำนวนเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนนั้นพุ่งสูงถึง 72,000 คนต่อปี