กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ที่มาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกล่าวถึงการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยกตัวอย่างในเรื่องข้าวครบวงจร ว่า จากการที่ประเทศไทยมีเกษตรกร 3.7 ล้านครัวเรือน ปลูกข้าวนาปี ประมาณ 59 ล้านไร่ และมีบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย กระทรวงเกษตรฯ จึงเข้าไปสำรวจความเสียหายและเยี่ยวยา โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการเจรจาส่งข้อมูลเพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยเข้าไปจ่ายเงินชดเชยให้กับพี่น้องเกษตรกร คาดว่าจะมีข้าวเปลือกนาปีไม่เกิน 23 ล้านตัน โดยแปลงออกมาเป็นข้าวสารจะอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตัน การบริโภคในประเทศอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร ฉะนั้นจะเหลือส่งออกประมาณ 4 ล้านตัน คณะทำงานด้านต่าง ๆ จึงได้มีการวางแผนในการส่งเสริมหรือควบคุมเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานว่าเกษตรกรจะทำนาปรังได้จำนวนกี่ไร่ถึงจะเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีศักยภาพการทำนาปรังถึง 12 ล้านไร่ แต่ถ้าทำทั้งหมดจะเกิดปัญหา Over supply ได้ จึงได้มีการคำนวณออกมาว่าอยากให้เกษตรกรทำนาปรังไม่เกิน 10 ล้านไร่ (โดยประมาณ) จึงจะได้ข้าวประมาณ 5 – 6 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจะใกล้เคียงขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของประเทศไทย ทำให้ไม่กดดันไปที่ราคา
สำหรับพื้นที่ที่เหลืออีก 2 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการลงไปดูแลพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร โดยใช้เครื่องมือ Agri-map เข้าไปตรวจดูพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรฯ จะเอาพื้นที่เหล่านี้เป็นเป้าหมายหลักในการพูดคุยจูงใจให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น การปลูกพืชหลากหลาย การปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ตลาดของสินค้านั้น ๆ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปส่งเสริมให้ปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง เป็นต้น จะเป็นตัวช่วยในการตัดวงจรโรคแมลงด้วย ขณะเดียวกันยังสามารถไถ่กลบบางส่วนได้ ทำให้อินทรียวัตถุในดินสูงมากขึ้น และเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน จึงอยากใช้โมเดลแบบนี้กับพืชสำคัญ
ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวได้รายงานว่าปัจจุบันประเทศจีนเปลี่ยนพฤติกรรมในการนำเข้าข้าว โดยสนใจซื้อข้าวพื้นนิ่ม จึงมอบให้กรมการข้าวเร่งพัฒนาพันธุ์ เพราะมีความต้องการสูงมากถึงประมาณ 7 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนเลือกที่จะไปซื้อที่เวียดนาม กรณีดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ เห็นว่ามีความต้องการจากผู้บริโภคชัดเจน จึงต้องมีการวิจัยที่ตรงกับความต้องการตลาด และส่งข้อมูลข่าวสารถึงพี่น้องเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรปรับตัวให้ทันต่อความต้องการ นอกจากนี้ รัฐบาลมีโครงการที่จะดูแลในเรื่องการตลาดรองรับ โดยเฉพาะในช่วงที่มีข้าวเปลือกจำนวนมาก เช่น ให้ ธ.ก.ส. เข้าไปเสริมสภาพคล่องในระบบสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้มีกำลังในการไปซื้อข้าวในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว โครงการดูแลผู้ประกอบการให้มีเม็ดเงินในการซื้อข้าวเข้ามาเก็บ โดยทางรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม โครงการชะลอการขายข้าวให้เกษตรกรหรือสหกรณ์เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาให้ตันละ 1,500 บาท เป็นต้น อีกทั้งยังมีโครงการชดเชยลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือก มีวงเงินประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. โดยฐานข้อมูลจะมาจากกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในเรื่องของการขึ้นทะเบียน และต้องเป็นเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการน้ำท่วม การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้มีเม็ดเงินกว่า 40,000 ล้านบาทที่ฐานรากของระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในเรื่องของราคาก็เป็นไปตามกลไกตลาด ราคาข้าวหอมมะลิมีราคา 13,000 – 14,000 บาท/ตัน ข้าวปทุมธานี ประมาณ 9,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 7,500 – 8,000 บาท (ราคาที่ความชื้น 14.5 %) ทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความพึงพอใจ เกษตรกรรายใดมียุ้งฉาง หรือสหกรณ์ไหนมีพื้นที่จัดเก็บ อาจจะใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการชะลอการขาย จะได้รับการสนับสนุนในด้านเงินทุนในค่าเก็บรักษาด้วย สำหรับสิ่งที่ต้องจับตามองคือข้าวเปลือกเหนียว จากการที่มีราคาดีมาในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีเกษตรบางรายหันไปปลูกข้าวเหนียวแทน ในประเภทข้าวเหนียวที่เป็นต้นเตี้ย จึงคิดว่าจะดำเนินการแก้ไขต่อไป จึงได้มอบหมายกรมการข้าวไปดูในรายละเอียด ซึ่งจะแก้ไขไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริง อยู่บนพื้นที่ฐานที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมกับภาครัฐด้วย