กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก พัฒนาหลักสูตร Master in Branding and Marketing (English Programme) หรือ MBM หลักสูตรปริญญาโทแห่งแรกของเอเชีย ที่ผสมผสานระหว่างการสร้างแบรนด์และการตลาดเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากหลักสูตรภาษาอังกฤษแล้ว ในส่วนของภาคภาษาไทยก็มีการปรับโฉมครั้งใหญ่เพื่อตอบโจทย์โลกธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด (ภาคภาษาอังกฤษ) กล่าวว่าปัจจุบันการสร้างแบรนด์มีความสำคัญต่อโอกาสการเติบโตของธุรกิจเป็นอย่างมาก หากแต่องค์ความรู้ด้านการสร้างแบรนด์ยังไม่มีการรวบรวม และเปิดให้มีการเรียนการสอนอย่างจริงจังในระดับปริญญาโท ซึ่งเป็นสาเหตุหลักให้องค์กรธุรกิจไทยขาดความได้เปรียบทางการแข่งขัน เหตุนี้เหล่าคณาจารย์ในภาควิชาการตลาด จุฬาฯ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งมีองค์ความรู้ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ และเป็นแหล่งผลิตนักปั้นแบรนด์มืออาชีพระดับโลกมานาน ในการพัฒนาหลักสูตรด้วยการนำเอาศาสตร์ความรู้ด้านการสร้างแบรนด์เข้ามาผสมผสานกับศาสตร์ด้านการตลาด จนเป็นหลักสูตรใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคลากรด้านการตลาดของไทย
"หลักสูตรนี้ เป็นภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งการร่วมมือกับเคมบริดจ์ ไม่ใช่เพียงเฉพาะความรู้วิชาการ แต่ยังมีการเรียนการสอนร่วมกันด้วย โดยผู้เรียนจะได้เดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรายวิชา Global Seminar in Branding ซึ่งจะได้เรียนรู้จากคณาจารย์เคมบริดจ์ ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือความเป็นเคมบริดจ์ ทำให้สามารถดึงกูรูจากแบรนด์ชั้นนำทั่วโลกมาเป็นวิทยากรบรรยาย นิสิตจะได้ความรู้อย่างเต็มที่จากคนชั้นเซียนระดับโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก หลักสูตรMBM จึงเป็นเหมือนการสร้างคุณค่าให้กับตัวผู้เรียน ก่อนที่จะเรียนจบออกไป แล้วเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้ ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตัวเอง"
ดร.เอกก์ กล่าวต่อว่า เคมบริดจ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานสูงมากในการพัฒนาหลักสูตร และมีชื่อเสียงมานานในเรื่องของการสร้างแบรนด์ โดยในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ได้มีการส่งศาสตราจารย์มาร่วมสังเกตการณ์การเรียนการสอนจนมั่นใจจึงเกิดข้อตกลงขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันคือเรื่องคุณภาพของนิสิต ที่ต้องมาก่อนเรื่องอื่นใด จึงจำกัดจำนวนรับเข้าแต่ละปีเพียง 25 คนเท่านั้น
ทางด้าน รศ.ม.ล.สาวิกา อุณหนันท์ ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด (ภาคภาษาไทย) กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้ภาควิชาการตลาด ของคณะบัญชีฯ จุฬาฯ มีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัยมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมทั้งหมด โดยนำกลยุทธ์สำคัญในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงใน 3 เรื่อง คือ Customer Insight, Innovation และ Intimacy เข้ามาอยู่ในการเรียนการสอนทุกวิชา นอกจากนี้ยังเปิดให้มีแขนงวิชาเฉพาะทาง อย่างการจัดการแบรนด์และการตลาดค้าปลีก การจัดการแบรนด์และการตลาดบริการ และการจัดการด้านการตลาด เพื่อให้นิสิตมีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ มีความรู้ด้านทฤษฎีทางการตลาด และสามารถประยุกต์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล"
"ส่วนการเรียนการสอน นอกจากเรียนกับเหล่าคณาจารย์ของภาควิชาเรา ซึ่งหลายท่านล้วนเป็นบุคคลที่หลายองค์กรชั้นนำต้องการตัวไปเป็นที่ปรึกษาให้แล้ว เรายังดึงเอานักการตลาด หรือนักสร้างแบรนด์เก่งๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดประสบการณ์จริงให้กับนิสิต ซึ่งไม่ใช่แค่มาบรรยาย 1-2 ชั่วโมง แต่เป็นการสอนเต็มทั้งวิชา ยิ่งไปกว่านี้ ผู้เรียนยังจะมีโอกาสได้สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนที่มีประสบการณ์ความรู้ที่หลากหลายด้วย เนื่องจากหลักสูตร MBM จะเปิดกว้างในการรับนิสิต นักศึกษา จากทุกคณะ และทุกภาควิชา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด อันเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานด้านการตลาด"
ทั้งนี้ ปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด หรือ MBM ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเปิดรับสมัครช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะเปิดสอนในเดือนสิงหาคม2561 โดยจะเปิดรับเพียง 65 คนในส่วนภาคภาษาไทย และ 25 คนในภาคภาษาอังกฤษ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อไปได้ที่ 02-218-5791-2 หรือที่เว็บไซต์ mbm.cbs.chula.ac.th และอีเมล์ ms-mkt@cbs.chula.ac.th