TCELS จับมือร่วมกับ สวทน. และ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ จัดงานสัมมนา “จาก Big Data สู่ AI ไปถึง Robot สังคมไทยรู้เท่าทันแค่ไหน”

ข่าวทั่วไป Friday December 8, 2017 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จับมือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จัดงานสัมมนาหัวข้อ "จาก Big data สู่ AI ไปถึง ROBOT สังคมไทยรู้เท่าทันแค่ไหน" ณ ห้องประชุมเบญจศิริ แกรนด์ บอลรูม ชั้น 5 โรงแรมโนโวเทล สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลุ่มปัญญาประดิษฐ์หุ่นยนต์ และ Big Data ร่วมฟังคำบรรยายจากนายกสมาคมกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี AI พร้อมหัวข้อเสวนาการสังคมไทย และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี Big data, AI และ Robot ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ปัจจุบันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ (Artificial Intelligence (AI)/ Robotics) และการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในประเทศไทยมีความแพร่หลายและมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น AI เมื่อเทียบกับมนุษย์ คือ ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาล และความรวดเร็วและแม่นยำในการประมวลผลเชิงตรรกะ AI จึงเป็นผู้ช่วยมากกว่าเป็นผู้ตัดสินใจ แม้กระนั้น ความสามารถในการเข้าถึง เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว จากการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของ AI และต่อเนื่อง สังคมไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันเพื่อรองรับการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องทางสังคม เพื่อให้เรารู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วนั้น การเตรียมพร้อมทั้งทางด้านความรู้ สังคม จริยธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง" นายแพทย์ชัยยศ คุณานุสนธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ กล่าวว่า "โรงพยาบาลมีโครงการร่วมกับต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยการตัดสินใจของแพทย์ทางสมอง ด้วยการใช้ปลายเครื่องตรวจจับส่องแสงไปที่เนื้อเยื่อเป้าหมาย ซึ่งจะสะท้อนแสงกลับมาเพื่อให้แพทย์รู้ว่าเนื้อเยื่อสมองบริเวณนั้นปกติหรือเป็นเนื้อร้าย รวมถึงการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ป่วยซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา" นายธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า "สังคมไทยตื่นตัวเตรียมพร้อมสำหรับการมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น สังเกตได้จากการที่ภาคการศึกษารวมถึงผู้ประกอบการได้พัฒนาหุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆ ออกมาทดลองใช้หลากหลายฟังก์ชั่น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ทั้งในอุตสาหกรรม การแพทย์และการบริการ อาทิ หุ่นยนต์ที่ใช้โต้ตอบมนุษย์ แขนกลในโรงงาน หุ่นยนต์ช่วยกายภาพบำบัด จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องร่วมกันสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยี AI และทำให้หุ่นยนต์อัจฉริยะมากขึ้น โดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ หรือวิเคราะห์อาการผู้ป่วยเบื้องต้น ก่อนที่แพทย์จะเข้ามาทำการรักษา ขณะที่ในต่างประเทศมีความพยายามพัฒนาขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับมนุษย์หรือฉลาดกว่าในอนาคต" "โซเฟีย"ต้นแบบพลเมือง AI ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ แวดวงเทคโนโลยีต่างจับตามอง Sophia (โซเฟีย) หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์เพศหญิง สามารถตอบโต้กับมนุษย์และแสดงสีหน้าแบบต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น การขยับปาก ขมวดคิ้ว ขยับดวงตา และ ฯลฯ ผลงานการพัฒนาโดยบริษัท Hanson Robotics เดวิด แฮนสัน หัวหน้าทีมวิศวกรและดีไซน์เนอร์ กล่าวว่า "เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์โซเฟีย คือ การทำให้ AI มีความรู้สึกนึกคิด มีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด เพื่องานด้านการบริการสุขภาพ การศึกษาและการบริการลูกค้า ผิวหนังที่สมจริงของโซเฟียทำมาจากซิลิคอนที่จดสิทธิบัตรแล้ว ภายใต้ใบหน้าได้ติดตั้งเซนเซอร์ที่ช่วยให้แสดงออกทางสีหน้าได้ถึง 62 แบบ ส่วนดวงตาฝังกล้องประกอบกับอัลกอริทึมที่ทางบริษัทออกแบบทำให้สามารถมองเห็นและมองตามคู่สนทนา ในส่วนของการพูดนั้นใช้เทคโนโลยีจากกูเกิลและเทคโนโลยีอื่นๆ ช่วยให้จดจำบทสนทนาและโต้ตอบได้อย่างชาญฉลาดตลอดเวลา โซเฟียสามารถจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ และทางบริษัทผู้ผลิตต้องการที่จะผลิตหุ่นยนต์แบบโซเฟียให้กลายเป็นเป็นผู้ดูแลมนุษย์ได้ อาทิ ช่วยเหลือผู้สูงอายุภายในสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือ งานบริการเพื่อสังคมต่างๆ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ