กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--midas pr
เกษตรกรไทยและผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร เรียกร้องภาครัฐยกเลิกนโยบายจำกัดการใช้ไกลโฟเซต
เกษตรกรไทยใช้ไกลโฟเซตกำจัดวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพมายาวนานกว่า 40 ปี เช่นเดียวกับเกษตรกรในประเทศต่างๆ ไกลโฟเซตช่วยเกษตรกรสร้างผลผลิตทางการเกษตร รักษาความมั่นคงและยั่งยืนทางอาหาร และตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจ และกล่าวได้ว่าในระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดใด ผ่านการประเมินความปลอดภัยอย่างถี่ถ้วน โดยหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ทั่วโลกมากเท่ากับไกลโฟเซต ที่สำคัญผลการประเมินโดยหน่วยงานเหล่านั้นได้ผลตรงกันว่า ไกลโฟเซตไม่เป็นสารก่อมะเร็ง
ที่ประชุมร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ว่าด้วยเรื่องสารตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สรุปว่า การได้รับไกลโฟเซตพร้อมกับอาหาร ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ อีกทั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ต่างออกแถลงการณ์ยืนยันตรงกันว่า ไกลโฟเซต มิได้เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในมนุษย์
เว็บเพจของคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป แสดงข้อมูลสถานะภาพการใช้ไกลโฟเซต และผลการประเมินความปลอดภัยของไกลโฟเซต โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างละเอียด
ในส่วนของประเทศไทย เกษตรกรและกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมการเกษตร ต่างตั้งคำถามไปยังกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าเหตุใดหน่วยงานทั้งสองจึงจะจำกัดเกษตรกร จากการใช้สารกำจัดวัชพืชที่ปลอดภัย และเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมกำจัดวัชพืช
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะเลขาธิการสมาพันธุ์เกษตรปลอดภัย (FSA) ตั้งข้อสงสัยว่า "ถ้าหากไกลโฟเซตที่ปลอดภัย และมีความเป็นพิษที่ต่ำมากขนาดนี้ ถูกจำกัดการใช้หรือยกเลิก จะมีใครรับประกันว่าเกษตรกรจะไม่เสี่ยงที่จะโดนหลอกให้ใช้ไกลโฟเซตปลอมที่มีคุณภาพต่ำแต่ราคาแพง ที่ลักลอบขายในร้านค้าที่ไม่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เขายังกล่าวเสริมอีกว่า "การเสนอให้จำกัดการใช้ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ หรือแม้กระทั่งยกเลิกการใช้ เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเกษตรกร เพราะไม่มีพื้นที่เพาะปลูกไหนที่ไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำและเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ไกลโฟเซต การพึ่งพาการถอนหญ้า หรือใช้เครื่องมือตัดหญ้า เป็นต้นทุนสูงสำหรับเกษตรกร จึงเป็นไปไม่ได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์"
นายอเนก ลิ้มศรีวิไล เจ้าของธุรกิจไร่ปาล์มในจังหวัดกระบี่ กล่าวว่าการใช้ยากำจัดวัชพืชเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับไร่ปาล์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาฆ่าหญ้า "วันนี้ถ้ามีการจำกัดการใช้งาน หรือจำกัดพื้นที่การใช้ ก็จะกระทบต่อรายได้และการแข่งขันพอสมควร เพราะต้องหันไปใช้วิธีอื่นและจ้างแรงงานมากขึ้นเพื่อกำจัดวัชพืช แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการใช้อย่างมีความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ คือไม่ใช่ใช้งานแบบพร่ำเพรื่อ และต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าสารไกลโฟเซสนั้นใช้เวลากี่วันจึงจะสลายไปตามธรรมชาติ และตรวจสอบให้ชัดเจนว่าจะมีวิธีการจัดการกับแหล่งน้ำในชุมชนอย่างไร และสารฆ่าหญ้านี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนจริงหรือไม่ เราต้องทำการทดสอบอย่างชัดเจน และมีขั้นตอนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน"
ประชากรไทยกว่าร้อยละ 60 เป็นเกษตรกร และพื้นที่กว่าครึ่งของประเทศไทยเป็นพื้นที่เพาะปลูก เกษตรกรกำลังเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้ยกเลิกการจำกัดไกลโฟเซตที่มีประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกร ในการกำจัดวัชพืช และลดการจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนราคาแพงของเกษตรกร
นายรัฐ คำลือเกียรติ เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง และมะม่วงจังหวัดลำพูน ระบุว่า ตนเป็นเกษตรกรมาทั้งชีวิต การปลูกหอมแดงจำเป็นต้องกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมแปลงปลูกให้สะอาดก่อนปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจำเป็นต้องใช้ไกลโฟเซตกำจัดวัชพืชก่อนการปลูกปีละครั้ง และไม่เคยเห็นว่าการใช้แบบนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อต่อผู้บริโภคหรือชุมชน "ถ้าไม่ให้ใช้ยาฆ่าหญ้าหรือมาจำกัดการใช้น่าจะไม่ไหว เพราะอันที่จริงเราก็ไม่ใช้ใช้ยาเยอะ ปีหนึ่งเราพ่นยาแค่ครึ่งเดียวก่อนเตรียมแปลง หากเทียบกับยาฆ่าแมลงแล้ว ผมคิดว่ายาฆ่าหญ้าไม่มีปัญหาอะไร เพราะถ้าเราไม่ใช้แล้วผลผลิตของเราเก็บเกี่ยวไม่ได้ตามเป้า เราขาดทุน ตรงนี้ก็จะอยู่กันไม่ได้ หากพูดไปถึงส่งออก ก็ต้องบอกเลยว่า หอมแดงจากประเทศไทยไม่ได้ส่งออกไปที่อินโดนิเซียหลายปีแล้ว ถ้ามีการจำกัดการใช้ จะยิ่งมีผลเสียต่อผลผลิตของไทย ตรงนี้เราจะเสียโอกาสมาก"
PG Economics จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์จากนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทำการศึกษาการใช้ไกลโฟเซตในภาคเกษตรของไทย และผลกระทบจากการจำกัดการใช้พบว่า ประเทศไทยใช้ไกลโฟเซตเพื่อกำจัดวัชพืชคิดเป็นร้อยละ 33 ของการใช้สารกำจัดวัชพืชทั้งหมดในประเทศ สวนปาล์ม ยางพารา และผลไม้เมืองร้อน เป็นกลุ่มพืชที่มีการใช้ไกลโฟเซตเป็นหลักในการกำจัดวัชพืช ตั้งแต่เริ่มเตรียมแปลง และการควบคุมวัชพืชในแปลงระหว่างที่พืชเติบโตโดยที่การใช้ไกลโฟเซตในสวนปาล์มและสวนยางพารา คิดเป็นร้อยละ 79 และ 81 ตามลำดับ ของสารกำจัดวัชพืชทั้งหมดที่ใช้ ในขณะที่การทำนาข้าว ไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย และ มันสำปะหลัง จะใช้ไกลโฟเซตในขั้นการเตรียมแปลง และในพื้นที่คันนารอบแปลงปลูก การจำกัดการใช้ไกลโฟเซตจะมีผลทำให้สูญเสียผลผลิต โดยหากมีการสูญเสียผลผลิต 5% ต่อปี จะหมายถึงปริมาณสินค้าเกษตรที่สูญเสียมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาทต่อปี โดยที่สวนยางพารา สวนผลไม้เมืองร้อน และสวนปาล์มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากความเสียหายทางเศรษฐกิจ การจำกัดการใช้ไกลโฟเซตยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะเกษตรกรที่ปลูกพืชโดยไม่ต้องไถหน้าดินเพื่อกำจัดวัชพืช จะต้องกลับมาไถหน้าดินมากขึ้นบ่อยขึ้น ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการกร่อนพังทะลายของดิน ดินสูญเสียความชุ่มชื้น และมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นจากเครื่องจักรที่ใช้กำจัดวัชพืช
นายวัฒนา แก้วพ่วง เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวและหอมแดง แสดงความวิตกกังวลกับต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ต้องหันมาใช้แรงงานกำจัดวัชพืช
"ปลูกข้าวเราใช้ยาฆ่าหญ้าได้ ถ้าไม่ใช้อาจไม่กระทบเท่าไหร่นัก เพราะเราอาจใช้วิธีไถกลบวัชพืชในแปลงไป แต่ตรงกันข้ามกับการปลูกหอมแดงเลย อันนั้นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าและยาควบคุมหญ้า ใช้รถไถลำบาก แต่ถ้าต้องไถกันจริงๆ บ้านเรายังโชคดีที่มีรถไถ บางแปลงไม่มีรถ ก็ต้องใช้แรงงานคน จะเป็นต้นทุนที่หนักมาก ถ้าไม่ให้เราใช้ยาฆ่าหญ้าสำหรับแปลงหอมแดงแล้ว อาจจะต้องทำให้เราเปลี่ยนอาชีพไปเลย"
เกษตรกรที่ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่า ข้าว ข้าวโพด อ้อย หรือยางพารา เป็นสินค้าเกษตรส่งออกลำดับต้นๆ ของประเทศ การจำกัดการใช้ไกลโฟเซตเป็นการที่รัฐเอาเครื่องมือเพาะปลูกที่สำคัญออกไปจากมือเกษตรกร นโยบายนี้จะทำให้ต้นทุนเกษตรกรไทยสูงขึ้นอย่างมาก และสินค้าเกษตรไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นได้
ภายใต้ยุทธศาสตร์ "ประเทศไทย 4.0" รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ต่อปีเกษตรกรกว่า 7 เท่าตัว ภายในระยะเวลา 20 ปี แต่เป้าหมายนี้คงไปไม่ถึงหากรัฐบาลไม่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่กลับผลักไสให้เกษตรกรต้องละทิ้งเทคโนโลยีการกำจัดวัชพืชด้วยไกลโฟเซต ที่เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และปล่อยให้เกษตรกรต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น การใช้ไกลโฟเซตอย่างถูกต้องและปลอดภัย จึงเป็นคำตอบที่ภาครัฐควรต้องทำ โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อลดต้นทุนเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=rUx7KuuCiiY
https://www.facebook.com/besmarterfarmer/
ความปลอดภัยของไกลโฟเซต
องค์การความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป European Food Safety Authority (EFSA) ระบุว่า ไกลโฟเซตไม่ใช่สารก่อมะเร็งในมนุษย์ และสหภาพยุโรปมีมติให้ต่ออายุทะเบียนไกลโฟเซตอีก 5 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขการจำกัดการใช้หรืออื่นใด
องค์การสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์แห่งออสเตรเลีย (APVMA) รายงานว่า ไกลโฟเซตไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ หากมีการใช้งานตามคำแนะนำบนฉลาก
คณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยอาหารแห่งญี่ปุ่น (FSC) พบว่า ไกลโฟเซตไม่ไม่เป็นสารที่ก่อความเป็นพิษต่อระบบประสาท ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง ไม่เป็นสารก่อการกลายพันธุ์ และไม่มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ที่ประชุมร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ว่าด้วยเรื่องสารตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สรุปว่า การได้รับไกลโฟเซตพร้อมกับอาหาร ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์