ปูทางชาวนาสู่เกษตรกรกรอัจฉริยะ ผลิตข้าวไทยขึ้นแท่นที่หนึ่งในโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday November 1, 2005 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--คิธ แอนด์ คิน
วงเสวนาวิชาการ "รวมพลังข้าวของแผ่นดิน"สะท้อนอุปสรรคของข้าวไทยที่ยังไปไม่ถึงฝันขึ้นชั้นอันดับหนึ่งของโลก ระดมสมองมองปัญหาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ ชาวนาผู้ผลิตต้นน้ำยันผู้ส่งออกขั้นปลายน้ำ ระบุแม้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกแต่ไม่สามารถกำหนดราคาข้าวเองได้ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านราคา ส่วนชาวนาวอนรัฐพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ราคาถูกลงและตรงความต้องการของตลาดให้มากขึ้น ขณะที่ผู้ส่งออก ,โรงสี เน้นลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลก และเร่งพัฒนาความรู้ชาวนาไทยให้ทันสมัยประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาควบคู่เทคโนโลยีนำไปสู่การเป็น Smart Famer หรือ เกษตรกรอัจฉริยะ
ในงานมหกรรมสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมและผ้าทอไทย ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28ตุลาคม -6 พฤศจิกายน 2548 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี นอกจากจะมีนิทรรศการที่สำคัญด้านการอนุรักษ์ งานแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพของไทยแล้ว ยังมีกิจกรรมการเสวนาวิชาการ รวมพลังข้าวของแผ่นดิน เรื่อง "สานฝันพลังขาวไทยและไปให้ไกลเกินฝัน" และ "จากท้องนาสู่ท้องชาวโลก-ข้าวไทยมิใช่แค่เมล็ด" ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตข้าวตั้งแต่ตนน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนภาคเอกชนผู้แปรรูปข้าวร่วมอภิปราย
นางนาฏยา อ่อนสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดการเสวนา ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวชั้นนำของโลก โดย รัฐบาลได้มีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวไทยอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลก ถึงแม้ว่าประเทศเวียดนามจะเริ่มส่งออกข้าวเป็นคู่แข่งแต่ไทยยังมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมากกว่าอีกยังทั้งพัฒนาให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นตอนการแปรรูปข้าวให้อยู่ในรูปแบบอื่นๆนอกจากอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าของข้าวในการส่งออกด้วย
นายสุวรรณ คธาวุธ นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า การทำนาของชาวนาไทยในปัจจุบันผ่านพ้นจากยุคการใช้แรงงานสัตว์และการพึ่งพาฤดูกาลมาเป็นการใช้แรงงานจากเครื่องจักร ทำให้มีปัจจัยภายนอกเข้าเกี่ยวข้อง เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน แต่สิ่งที่ชาวนาต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากที่สุด คือ การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นในราคาที่ถูกลงและการให้ความรู้เรื่องการตลาดกับเกษตรกรในระดับรากหญ้าเพื่อจะได้ผลิตข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป
ด้านนายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าว กล่าวว่า ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างชาวนาและเจ้าของโรงสีเปลี่ยนแปลงจากนายทุนกับเกษตรกรเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะพันธมิตรธุรกิจที่ต้องประสานงานใกล้ชิดมากขึ้นทั้งในเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว การควบคุมผลผลิตข้าวที่ปราศจากการปนเปื้อน รวมไปถึงราคาที่ยุติธรรม เป็นกลาง ซึ่งในปัจจัยด้านราคานั้นจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐในมาตรการรับจำนำข้าวในแต่ละปีต้องสอดคล้องกับราคาของตลาดที่แท้จริง
ซึ่งความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับ นายวิโรจน์ เหล่าประภัสสร นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ที่ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการรับจำนำข้าวของรัฐจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของตลาดที่แท้จริง อย่าเข้ามาแทรกแซงตลาดเกินความจำเป็นโดยหวังคะแนนเสียงทางการเมือง เนื่องจากจะส่งผลกระทบกับกลไกการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ
นายสิทธิพงศ์ เจียมศรีพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พิจิตร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดของภาคเหนือตอนล่างที่มีการผลิตข้าวรวมถึง 30%ของปริมาณข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศ กล่าวว่า การพัฒนาข้าวไทยนอกจากการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรแล้วยังต้องเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดโดยอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและจัดเก็บให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องลดต้นทุนการผลิตด้วยการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนส่งให้ประหยัดคุ้มค่าในภาวะราคาน้ำมันแพง เช่น อาจใช้การเชื่อมต่อการขนส่งในระบบรางกับการขนส่งทางถนน เป็นต้น
นายบุรินทร์ ธนถาวรลาภ นายกสมาคมข้าวถุง กล่าวว่า การบริโภคข้าวไทยในประเทศมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะข้าวขาวและแม้ว่ารูปแบบการจำหน่ายจะเปลี่ยนแปลงจากกระสอบ หรือ ถัง มาเป็นถุงขนาดเล็กตั้งแต่ 1- 5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบครอบครัวไทยที่มีขนาดเล็กลงจากในอดีต ทำให้มูลค่าการค้าข้าวถุงในประเทศไม่ต่ำกว่า 50,000ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ผู้ประกอบการหลายรายยังได้พัฒนาแปรรูปข้าวให้เป็นอาหารพร้อมรับประทานและขนม เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคอีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวไทยอีกทางหนึ่งด้วย
ขณะที่มุมมองของเอกชนผู้ค้าข้าวรายใหญ่ นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพี จำกัด กล่าวว่า ข้าวไทยเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก โดยจากการสำรวจพบว่ามีการบริโภคข้าวสารทั่วโลกสูงถึง 404 ล้านตันต่อปี ดังนั้น ตลาดข้าวจึงเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้สินค้าอื่นๆ ดังนั้น การผลักดันข้าวไทยให้เป็นที่หนึ่งในโลกต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนคือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง สัดส่วนการผลิตต้องสมดุลกับการบริโภคในประเทศ การสร้างตราสินค้าไทยให้เป็นที่จดจำได้ในตลาด
ข้าวไทยมิได้เป็นเพียงเมล็ดธัญพืชทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้นหากแต่มีสายใยความผูกพันธ์ยึดโยงกับประเพณีและวัฒนธรรมในทุกขั้นตอนการผลิต ดังนั้น การสานฝันเพื่อผลักดันข้าวไทยให้เป็นหนึ่งในโลกจำเป็นต้องอาศัยการร่วมแรงรวมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวไทยตลอดจนผู้คนทุกหมู่เหล่าที่ยังรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักในประเทศไทยแห่งนี้ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงานฯ
คุณนิตยา 09-450-3377--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ