กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
ในวันนี้ (7 ธันวาคม 2560) นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ นั้น บทบัญญัติมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติว่า "บทบัญญัติ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้" ประกอบกับตามบทบัญญัติมาตรา ๒๗ ประกอบมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมีผลให้คดีที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ต่อศาลและปรากฏว่าจำเลยที่ไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยโจทก์มีหลักฐานแสดงต่อศาลได้ว่าศาลได้เคยมีการออกหมายจับจำเลยที่ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมาหรือไม่มาศาล ตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยได้
ในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสาระบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้
จึงมีมติให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณา จำนวน ๓ เรื่อง กล่าวคือ
๑. คดีหมายเลขคดีดำที่ อม.๑/๒๕๕๑ คดีหมายเลขคดีแดงที่ อม.๑๐/๒๕๕๒ ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๗ คน จำเลย กรณีกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว ๒ ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (หวยบนดิน) จำเลยที่ ๑ หลบหนีไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ ชั่วคราว
๒. คดีหมายเลขคดีดำที่ อม.๓/๒๕๕๑ ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่าง ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จำเลย กรณีกล่าวหาเกี่ยวกับทุจริตการอนุมัติให้เงินกู้ แก่รัฐบาลสหภาพพม่า จำนวน ๔,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจาก บริษัท ในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (Exim Bank) ศาลนัดพร้อมจำเลยไม่มาศาล ศาลสั่งจำหน่ายคดี ออกหมายจับจำเลย
๓. คดีหมายเลขคดีดำที่ อม.๕/๒๕๕๔ คดีหมายเลขคดีแดงที่ อม.๗/๒๕๕๖ ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ นายโภคิน พลกุล ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน จำเลย กรณีจัดซื้อรถหรือเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ ๕ (บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค ฯ)ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๕ ออกจากสารบบความ
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มอบอำนาจให้ นายณรงค์ รัฐอมฤต และ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมอบหมายให้พนักงานคดีว่าความ และดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาล