กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--มรภ.สงขลา
อธิการ มรภ.สงขลา แจงผลดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่นต่อ รมช.ศึกษาฯ น้อมนำพระบรมราโชบายในหลวง ร.10 เสริมสร้างความแข็งแกร่งผลิตครู ตั้งเป้าสร้างโอกาสทางการศึกษาวิทยาเขตสตูล ปั้นเยาวชนเรียนรู้ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวถึงผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยตามบทบาทสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ต่อพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสประชุมสร้างการรับรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า มรภ.สงขลา ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร มากำหนดเป็นแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการผลิตครูซึ่งคณะครุศาสตร์ดำเนินการผลิตและพัฒนาครูมาเกือบ 100 ปี เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบุคลากรทางการศึกษา ปัจจุบันได้น้อมนำพระบรมราโชบายมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเป็นแรงบันดาลใจ ดังเช่น โครงการศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในท้องถิ่น โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ด้วยระบบโค้ชชิ่งแอนด์แมนเตอร์ริ่ง และ พีแอลซี เป็นต้น
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า การดำเนินงานของ มรภ.สงขลา ตามยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการผลิตและพัฒนาครู มีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน คือ 1. ผลิตครูระบบปิด/เปิด 2. การพัฒนาศักยภาพครู และ 3. การพัฒนานวัตกรรมการผลิต ซึ่งในการผลิตครูระบบปิด/เปิดนั้นคณะครุศาสตร์ผลิตครูตามสัดส่วนที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คือ ครูคืนถิ่นร้อยละ 25 ครูระบบปิดร้อยละ 40 และครูระบบเปิดร้อยละ 35 ส่วนครูในระบบเปิด มรภ.สงขลา ผลิตบัณฑิตครูสอบบรรจุได้เป็นลำดับที่ 5 ของประเทศ แต่ถ้านับเป็นสัดส่วนการผลิตคณะครุศาสตร์ควรมีสัดส่วนในลำดับต้นมากกว่านี้ ทั้งนี้ เนื่องจากทางคณะฯ ผลิตครูตามที่กำหนดไว้ในแผนที่เสนอต่อ สกอ. และคุรุสภา กล่าวคือ 8 สาขาวิชามีอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร 5 คน ผลิตได้ห้องละ 30 คน
สำหรับการพัฒนาศักยภาพครู มรภ.สงขลา พัฒนาครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ที่ดำเนินการต่อเนื่องกว่า 10 ปี ได้รับโควต้าการผลิต 5 ห้อง ห้องละ 30 คน และต่อมาได้รับสัดส่วนเพิ่มอีก 1 ห้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ครูในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเข้ามาศึกษาแล้วได้รับใบประกอบวิชาชีพครูด้วย รวมเป็น 180 คน แต่ละปีมีผู้มาสมัครสอบเข้าศึกษามากกว่าจำนวนที่สามารถรับได้ บางปีการศึกษามีจำนวนผู้สมัครมากถึง 800 คน แต่สามารถรับได้เพียง 150 คนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 2,117 คนโครงการฝึกอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูของคุรุสภา 9 มาตรฐาน โครงการบริการวิชาการแก่สังคมในพื้นที่รับผิดชอบ จ.สงขลา พัทลุง และ สตูล ได้รับงบประมาณสนับสนุนเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท โครงการอบรมพัฒนาการจัดการเรียนรู้สำหรับครูปฐมวัย โครงการพัฒนาทักษะการคิดในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในระดับปฐมวัย เป็นต้น
อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครู มีโครงการวิจัยที่ทำร่วมกับคณะครุศาสตร์กลุ่มราชภัฏ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาทั้งการจัดการเรียนทั้งระบบ การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ดังเช่น การจัดการเรียนการสอนทั้งระบบในโรงเรียนแบบพีแอลซี (Professional Learning Community) และการจัดการศึกษาแบบจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ดำเนินการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในสังคมพหุวัฒนธรรมร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ พัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในด้านต่างๆ จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาครูซีโม (SEAMEO) กับประเทศกลุ่มอาเซียน พัฒนาโครงการตามพระราชดำริ ได้แก่ พัฒนาระบบการจัดการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนใน จ.สงขลา พัทลุง ตรัง และ สตูล จำนวน 14 โรงเรียน ต่อเนื่องกว่า 30 ปี เข้าร่วมพัฒนาโรงเรียนในโครงการพัฒนากองทุนการศึกษาในพระอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในพื้นที่ จ.สงขลา
"มรภ.สงขลา ได้รับงบประมาณจาก สกอ. อย่างต่อเนื่องในการดูแลนักศึกษาที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเป็นศูนย์การศึกษาพิเศษแห่งเดียวในภาคใต้ และได้ดำเนินการโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงแก่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานใน จ.สตูล เรามีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาเป็นวิทยาเขต เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับจังหวัดอื่นๆที่มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาใน จ.สตูล โดยให้ความสำคัญกับการเป็นเลิศทางด้านการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เน้นการสร้างเยาวชนให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม" อธิการบดีมรภ.สงขลา กล่าว