กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาด ดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 60 จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 59 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญและผลไม้ที่เพิ่มขึ้น มั่นใจ มาตรการช่วยเหลือภาครัฐ และแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้ภาคเกษตรในปีหน้ายังคงขยายต่อเนื่อง
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงทิศทางรายได้เกษตรกรปี 2560 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากดัชนีรายได้เกษตรกร พบว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ขายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับประรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ต่าง ๆ และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง โดยดัชนีรายได้เกษตรกรในช่วง 10 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ต.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 156.50 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ถึงร้อยละ 7.98 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 9.69 จากแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านทำให้ทุกภูมิภาคของประเทศสามารถทำการเพาะปลูกได้เพิ่มขึ้น และยังมีน้ำต้นทุนเหลือเพียงพอสำหรับการทำการเกษตรฤดูแล้งปี 2561
ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปี 2560 โดยพิจารณาจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.6 จากการที่รัฐบาลได้เข้าส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรในการทำการการผลิตโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เน้นการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้างโพดเลี้ยงสัตว์) โครงการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร การขยับช่วงการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ ลุ่มต่ำ ซึ่งโครงการและมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ได้เข้าไปมีส่วนช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำเหมือนที่ ผ่านมา สำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ รัฐบาลได้เร่งรัดเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทั้งเป็นการเฉพาะหน้า การชดเชยความเสียหาย และการฟื้นฟูส่งเสริมอาชีพ ผ่านมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการ 9101
หากมองหนี้สินครัวเรือนเกษตรปี 2560 จากการสำรวจของ สศก. ในเบื้องต้น พบว่ามีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2559 โดยหนี้สินครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 40 เป็นการกู้ยืมเงินระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตและเก็บรักษาผลผลิตเพื่อรอการจำหน่าย เช่น การซื้อวัสดุอุปกรณ์และปัจจัย การผลิต ค่าพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ค่าซ่อมแซมยุ้งฉาง/โรงเรือนเลี้ยงพืชสัตว์ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของภาคเกษตรโดยรวมและสอดรับกับรายได้เงินสดทางการเกษตรของครัวเรือนปี 2560 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนเกษตรซึ่งสอดคล้องข้อมูลภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม ปี 2560 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจภูมิภาคของไทยขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาคเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง