กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--มูลนิธิรักษ์ไทย
ปัจจุบันแม้ว่าการระบาดของเอชไอวีในประเทศไทย ได้ผ่านช่วงการระบาดสูงสุด โดยการติดเชื้อรายใหม่โดยรวมลดลง แต่การติดเชื้อยังคงสูงอยู่ โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2558 มีจำนวน 6,900 คน โดยการติดเชื้อเอชไอวีเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันถึง 90% ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดแยกเป็น 45% เป็นการรับและถ่ายทอดเชื้อฯ จากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย 30% เกิดจากคู่สามีภรรยาหรือคู่ประจำที่ไม่ทราบว่าอีกฝ่ายติดเชื้อ 11% เกิดจากเพศสัมพันธ์ระหว่างพนักงานบริการและลูกค้า 10% เกิดจากผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด และ 4% เกิดจากเพศสัมพันธ์กับคู่ฉาบฉวยไม่ประจำ
คุณพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย สมาชิกองค์การแคร์นานาชาติ ได้กล่าวถึงปัญหาและเป้าหมายการยุติเอดส์ในประเทศไทยว่า "ปัจจุบันรักษ์ไทยได้ทำงานด้านการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ ร่วมกับ ภาครัฐ และองค์กรภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร โดยได้ยกระดับความร่วมมือเพื่อให้เกิดการเร่งรัดและยั่งยืนในการเข้าถึงการตรวจ วินิจฉัยและรักษา โดยมีเป้าหมายหลัก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เพื่อยุติเอดส์ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2573 ด้วยการลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้ต่ำกว่า 1,000 ราย (จากข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 6,176 คน) ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาวะลงร้อยละ 90 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 36 จังหวัดในการดำเนินงาน ปี 2561-2563 ใน 5 กลุ่มประชากรหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการแพร่ระบาดเชื้อสูงมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) กลุ่มสาวประเภทสอง (TG) 7 จังหวัด กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด (PWID) 19 จังหวัด กลุ่มประชากรข้ามชาติ (Migrant) 13 จังหวัด และกลุ่มผู้ต้องขัง (Prisoner) 36 จังหวัด และที่สำคัญยังต้องเชื่อมโยงบริการสุขภาพต่อเนื่อง 5 องค์ประกอบหลักคือ การเข้าถึง-การเข้าสู่บริการ-การตรวจหา-การรักษา-การคงอยู่ในระบบ (Reach-Recruit-Test-Treat-Retain) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund) ตั้งแต่ปี 2546 แต่ปัจจุบันแต่การสนับสนุนจากกองทุนโลกกำลังจะหมดลง ภาครัฐก็ไม่มีเงินสนับสนุน ส่งผลกระทบในการยุติเอดส์อีก 13 ปีข้างหน้า
เพราะหากประเทศไทยจะลงทุนเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ลงจากเดิมเกินกว่าร้อยละ 50 ต้องใช้งบประมาณเพิ่มถึง 3,325 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี และหากทำได้จริง จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ได้ประมาณ 20,000 คน ลดการสูญเสียชีวิตลง 22,000 คน ประเทศประหยัดงบประมาณได้ถึง 10,955 ล้านบาท " คุณพร้อมบุญ กล่าวปิดท้าย
คุณกฤษดากร สอทอง เจ้าหน้าที่วิชาการ มูลนิธิรักษ์ไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การรังเกียจและการตีตราในกลุ่มประชากรหลัก เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการเข้ารับการตรวจรักษา เพราะสังคมยังไม่เปิดรับ เช่น ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด พนักงานบริการ ชายรักชาย เพราะถูกตีตราว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เขาเหล่านั้นปกปิดตนเอง ไม่กล้าเปิดเผยที่จะเข้าทำการรักษา ศูนย์บริการโดยชุมชน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เข้าสู่กระบวนการรักษาเร็ว และรับยาต้านเชื้อเป็นประจำตั้งแต่รับเชื้อในช่วงแรก ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ โดยชุมชนจะตรวจและรู้เร็วในวันเดียว และที่สำคัญหากเร่งจำนวนการตรวจเพื่อทราบผลผู้รับเชื้อรายใหม่ และรักษาเร็ว ย่อมลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา จะนำไปสู่การยุติเอดส์ในปี 2573 ตามยุทธศาสตร์เอดส์ชาติได้"