กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งยกระดับการส่งเสริม SMEs ไทยให้ไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จับมือสร้างความสัมพันธ์ภาคเอกชนเกาหลีใต้ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันผู้ประกอบการไทยให้มีการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมาใช้ เพื่อให้เข้าสู่ช่องทางการแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้ได้ร่วมกับ บริษัท เมดิอาน่า ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเกาหลีใต้มาช่วยพัฒนาเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ พร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยอื่น ๆ ที่ไทยยังไม่สามารถผลิตเองได้ โดยหลังจากได้รับการเรียนรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้วนั้น จะเร่งเชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายองค์ความรู้ในการผลิตใช้เองในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า และคาดว่าภายใน 5 ปีจะผลิตได้ 1 แสนเครื่อง
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเข้าสู่ยุค 4.0 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เด่นชัดด้านหนึ่งตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป คือ การสนับสนุนให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นฐานการผลิต มีความเชี่ยวชาญและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง (First S- Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง (New S- Curve) ให้มีการเติบโตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งยกระดับให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้มีขีดความสามารถที่จะเชื่อมโยงไปยังช่องทางการค้าในระดับสากล โดยแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพอย่างหนึ่งคือ การเชื่อมโยงความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจชั้นนำหรือประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ฯลฯ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกลไกข้างต้น ล่าสุดจึงได้จับมือสร้างความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งเป็นประเทศ ที่มีการพัฒนาผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตในระดับแนวหน้า ซึ่งจะเริ่มต้นความร่วมมือที่การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ด้วยการหยิบยกโมเดลนวัตกรรมที่ทันสมัยมาสู่ผู้ประกอบการไทย เพื่อให้ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์ในลักษณะ Win – Win
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีฐานในด้านการผลิตและส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของภูมิอาเซียน แต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก เนื่องจากการผลิต เครื่องมือแพทย์ของไทยยังเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงนักและเป็นเครื่องมือประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย หลอดฉีดยา แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยกลับนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องวินิจฉัยโรค จากต่างประเทศมากกว่าครึ่งของยอดขายเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตเองในประเทศทั้งหมด ดังนั้น กสอ. จึงมุ่งหวังให้การร่วมมือครั้งนี้เป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยได้มองเห็นและตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมนำมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจไปสู่การผลิตสินค้าที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดึง บริษัท เมดิอาน่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเกาหลีใต้ พร้อมด้วย ทีมนักวิจัยของวิศวกรรม ภาควิชาชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมวิจัยและพัฒนา เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (เครื่อง AED) อุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีสภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งสภาวะดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตสูงสุดอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุและคร่าชีวิตคนไทยมากถึง 54,000 คนต่อปี และด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต อุปกรณ์ดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องติดตั้งในทุกอาคารและสถานที่ ทั้งยังจะต้องผลักดันให้สามารถผลิต วิจัย และพัฒนาได้โดยนักนวัตกรรมและผู้ผลิตในประเทศไทย เพื่อลดหรือทดแทนการนำเข้าให้น้อยลงกว่าปัจจุบันซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาท ตลอดจนผลักดันให้สามารถนำงานวิจัยนี้เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย
นอกจากนี้ การดำเนินงานความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลียังจะให้การสนับสนุนแนวทางการสร้าง และขยายธุรกิจ SMEs สู่เวทีระดับโลก พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือมุมมองและดำเนินกิจกรรมที่จะอำนวยความสะดวกงานวิจัยผลิตภัณฑ์เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยหลังจากได้รับความช่วยเหลือจากทีมนักวิจัยของเกาหลีใต้แล้ว กสอ.ยังได้ตั้งเป้าที่จะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้มีการประสานการเชื่อมโยงไปยังผู้ผลิตของไทยรายอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้และ เทคนิคต่าง ๆ มาผลิตใช้ได้เองในประเทศภายในปี 2561 ทั้งนี้ หากได้การตอบรับจากผู้ประกอบการไทยในทิศทางที่ดี ตามเป้าหมายคาดว่าอีกภายใน 5 ปี น่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 เครื่อง ซึ่งช่วยลดการเสียดุลการค้าได้ถึง 9,000 ล้านบาท นายกอบชัย กล่าวปิดท้าย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ (12 ธ.ค. 60) กสอ.ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับบริษัท เมดิอาน่า จำกัด สาธารณรัฐเกาหลี ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกัน ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414 – 18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th , Facebook/dippr