รพ.เด็กใช้การจัดการความรู้ลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ข่าวทั่วไป Tuesday April 26, 2005 12:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สคส.
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก เปิดเผยถึงโครงการวิจัยในชุดโครงการ
“ประสิทธิผลของการให้ความรู้และประสบการณ์ชีวิต ทำให้อัตราการตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่นลดลง” ซึ่งโครงการดังกล่าวนำเสนอโดย นพ. ทศพร เรืองกฤษณ์ แห่ง รพ. ราชวิถี ทั้งนี้เป้าหมายของโครงการก็เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ของหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ซึ่งคณะวิจัย ได้นำเอาวิธีการจัดการความรู้ ไปประยุกต์ใช้พร้อมทั้งสอนวิชาทักษะชีวิต (Life skill), แนะแนวการวางแผนชีวิต, อบรมการเลี้ยงดูทารก และให้คำปรึกษาวิธีการวางแผนครอบครัว 15 ชั่วโมง แก่หญิงตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 20 ปีที่มาคลอดที่ รพ. ราชวิถี หวังผลให้หญิงเหล่านี้ทอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ซ้ำเป็น 3 ปีขึ้นไปเป็นการให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศดูผลลัพธ์ที่การตั้งครรภ์ซ้ำ ว่าทอดระยะห่างออกไปหรือไม่ เพียงใด
ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ.สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า การวิจัยดังกล่าวสามารถทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำของหญิงที่อายุน้อยกว่า 20 ปีได้โดยใช้วิธีการ การจัดการความรู้ (knowledge management) คือใช้แนวความคิดว่า “ความรู้เพื่อไม่ให้ตั้งครรภ์ซ้ำในคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีมีอยู่แล้ว” คือในข้อมูลของ รพ. ราชวิถี ความถี่ห่างของการตั้งครรภ์ซ้ำของหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 128 คน พบ 14 คนที่การตั้งครรภ์ซ้ำห่างออกไป 4 ปีหรือมากกว่า แสดงว่าคน 14 คนนี้คือคนที่มีความสำเร็จในการป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์ซ้ำ คือเป็นผู้มีความรู้เพื่อผลสำเร็จในการบรรลุ เป้าหมายป้องกันการตั้งครรภ์”
ผอ.สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ การจัดการความรู้ ทำโดยเอาผู้มีความรู้มาทำกระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist) ในกรณีนี้ก็เอาคนจำนวนหนึ่งใน 14 คนนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มาคลอด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ
โดยจัดให้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มไม่ใช่ระหว่างปัจเจกบุคคลและใช้เครื่องมือ “ธารปัญญา” นักวิจัยบันทึก
“ขุมความรู้” เพื่อการป้องกันการตั้งครรภ์ และติดตามผลการป้องกันการตั้งครรภ์ เขียนรายงานออกมาเป็นผลการ “พัฒนาและวิจัย”
“ที่จริงโจทย์ การวิจัยและพัฒนา เพื่อการป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาภาวะตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (Teenage Pregnancy) ที่จะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้เคยเผชิญปัญหาและมีผลสำเร็จในการแก้ไขกับกลุ่มที่กำลังเผชิญปัญหามีได้มากมายหลากหลายโจทย์นักวิจัยด้านอื่น ๆ จะเอาแนวทางนี้ในการตั้งโจทย์และดำเนินการทดลอง” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ