GIT ค้นฟ้าหาสุดยอดนักออกแบบเครื่องประดับ และสุดยอดช่างเจียระไนพลอย ในGIT World’s Jewelry Design Awards 2017 และ GIT’s World Gems Faceting Master 2017

ข่าวทั่วไป Wednesday December 13, 2017 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดงานประกาศผลงานการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 11 ชิงโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีและ เงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท และการแข่งขันเจียระไนพลอย ครั้งที่ 1 ชิงเหรียญเกียรติยศ และเงินรางวัลรวมมูลค่า 157,000 บาท ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ หวัง หวังดันนักออกแบบ และ ช่างเจียระไนพลอยไทยสู่เวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ (GIT's World Jewelry Design Award 2017) จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ นักออกแบบทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น ได้นำเสนอผลงานความคิดสร้างสรรค์ออกสู่สายตาประชาชน ในครั้งนี้เป็นการประกวดครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด "Illusion through the Gemstones; Where the Mystery of Your Design Begins" และผู้ชนะเลิศได้รับเงินรางวัลรวมมูลค่า 500,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยในปีนี้ความสนใจจากบรรดานักออกแบบทั้งไทยและต่างชาติส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งเป็นสองประเภทคือ ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ และ ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี นอกจากนี้ GIT ยังได้จัดการประกวดเจียระไนพลอยระดับโลก GIT's World Challenge Gems Faceting Master 2017 ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 157,000 บาท ถือเป็นปีแรกของ GIT ที่เปิดโอกาสให้กับช่างเจียระไนมือสมัครเล่น และมืออาชีพ ทั้งของไทยและระดับนานาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างช่างเจียระไนรุ่นใหม่ ที่มีทักษะ และฝีมือขั้นสูงให้สามารถเติบโตได้ในตลาดโลก โดยในวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2560 สถาบันฯ ได้รับเกียรติจาก นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีประกาศผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 11 การแข่งขันเจียระไนพลอย ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ สำหรับการประกวดการออกแบบ GIT's World Jewelry Design Award 2017 ในปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 267 ผลงาน แบ่งเป็น เครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี จำนวน 231 ผลงาน เครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ 36 ผลงาน คัดเลือกผลงานที่มีคะแนนสูงสุดประเภทละ 3 ผลงาน รวมเป็น 6 ผลงาน เพื่อทำเป็นเครื่องประดับจริง และสำหรับ GIT's World Gems Faceting Master 2017 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 34 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท Main Challenge จำนวน 17 ผลงาน และ Freestyle Challenge จำนวน 17 ผลงาน ซึ่งสถาบันได้มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานการออกแบบ พร้อมยังได้มีการจัดแสดงผลงานการเจียระไนของผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหมด ณ ลานอีเดน ชั้น1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลการออกแบบในปีนี้ ได้แก่ ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานชุด Multiverse ออกแบบโดย นางสาวศิลานันท์ คงบัว รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานชุด The Second Dimension ออกแบบโดย นายกิติศักดิ์ หมายเจริญ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานชุด Radiant Cut Diamond ออกแบบโดย นางสาวพรวิภา เธียรพจีกุล ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานชุด My Universe ออกแบบโดย นายธีรวุฒิ อาปะโม รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานชุด New Shiny Discover ออกแบบโดย นางสาวกัญญา แสงผะกาย รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานชุด ปิรามิด ออกแบบโดย นายกิติศักดิ์ หมายเจริญ สำหรับผลงานการประกวดการออกเจียระไนในปีนี้ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ Mr. Bae Tae Kyu จากสาธารณรัฐเกาหลี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นายสรรเพชญ พนัสเจริญ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ Mr. Milan Rekesan จากสมาพันธรัฐสวิส นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT กล่าวว่าทิ้งท้ายว่า งานประกวดออกแบบเครื่องประดับและการแข่งขันเจียระไนเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบเครื่องประดับทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน ให้ผลงานเหล่านี้ออกสู่สายตาประชาชน ไม่เพียงแค่ชาวไทยเท่านั้น ต่างชาติเองก็ยังยอมรับว่า คนไทยมีดีไซน์การออกแบบไม่แพ้ชาติใดในโลก ในการจัดงานทุกครั้งเรามีความสำเร็จของบรรดา นักออกแบบเป็นเครื่องการันตีว่าเรามาถูกทาง เพราะในปัจจุบัน อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับไทยยังคงเป็นสินค้าที่ส่งออกสำคัญของประเทศ ในปีนี้เราเลยต่อยอดการจัดประกวด ด้วยการจัดให้มีการแข่งขันเจียระไนพลอย เพื่อให้ช่างได้มีการฝึกฝีมือให้ทัดเทียมกับช่างเจียระไนพลอยระดับโลก และในปีต่อๆ ไปนี้ ก็เป็นไปได้อย่างแน่นอนว่า เราจะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ มาสู่วงการอัญมณีเหมือนที่เราทำในเช่นทุกวันนี้"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ