กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--
ระหว่างปลาเหงือกแดงตัวเย็นฉ่ำที่นอนสงบนิ่งอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำกับปลาชนิดเดียวกันที่วางบนถาดน้ำแข็งในตลาดนัด แถมสีเหงือกซีดแล้วต่างหาก คุณจะเลือกซื้อตัวไหน?
คำตอบก็คือไม่ทั้งคู่ ถ้าคุณรู้ว่าปลาสองตัวนี้ผ่านการเดินทางจากทะเลมาถึงเราอย่างน้อย 3 ทอด ระหว่างทางถูกตรึงความสดด้วยสารฟอร์มาลีน ก่อนถูกจับแยกกันที่ตลาดขายส่งย่านชานเมือง
เรื่องทั้งหมดนี้คนกินปลาอย่างเราไม่มีทางรู้ แต่คนที่รู้ดีที่สุดอย่างชาวประมง เขามีทางเลือกที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า ยั่งยืนกว่า มานำเสนอ ภายในชื่อ "ร้านคนจับปลา (Fisherfolk)"
" ร้านคนจับปลา " เป็นร้านของชาวประมงที่ได้ก่อตัวขึ้นจากการลงหุ้นของชาวประมงท้องถิ่น โดยตั้งธงว่า จะลดการเดินทางของปลาให้สั้นที่สุด ให้ผู้บริโภคกินปลาที่ปลอดภัยที่สุด ในขณะที่ช่วยอนุรักษ์ทะเลด้วยจากการใช้เครื่องมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างผลตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับคนจับปลา
"ปลาจากร้านคนจับปลาเราจะทำให้การเดินทางสั้นที่สุด คือขึ้นจากเรือ แล้วเราก็จัดเก็บ แพ็คใส่ตู้แช่เย็นเพื่อรักษาความสดทันที จากนั้นก็ส่งเข้ากรุงเทพฯ แต่ถ้าเป็นระบบทั่วไปขึ้นจากเรือเขาก็ต้องส่งพ่อค้าคนกลางซึ่งตรงช่วงพ่อค้าคนกลาง ปลาแต่ละชนิดก็เดินทางมาเจอกันตรงนี้ การดูแลรักษาก็จะเกิดขึ้น เช่น ใส่สารเคมีเช่นฟอร์มาลีน แล้วค่อยเดินทางไปส่งอีกทีที่ท่าข้ามหรือมหาชัย ทั้งหมด 3 ต่อ เพื่อจะกระจายให้กับพ่อค้าแม่ค้าไปขายอีกที" เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลาให้ข้อมูล
ภายใต้การบริหารจัดการของร้านคนจับปลา ยังเน้นให้ราคาที่เป็นธรรมกับชาวประมงมาตลอดเวลา 3 ปี ตั้งแต่ที่ได้เริ่มดำเนินการ
"เราซื้อในราคาสูงกว่าแพปลา 20% ดังนั้นชาวประมงจะได้ส่วนต่างตรงนี้ จากเดิมเคยพึ่งพ่อค้าคนกลางให้เอาไปขายตลาดข้างนอกว่าได้กิโลละเท่าไหร่ ถึงจะกลับมาตีราคาให้ชาวประมงอีกทีหนึ่ง สมมติว่าราคาตลาดกิโลละ 60 บาท แต่ถ้าพ่อค้าคนกลางบอกว่า 15-20 บาทก็ต้องเท่านั้น"
อีกสิ่งหนึ่งที่ร้านคนจับปลาให้ความสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ขุมชนชาวประมงท้องถิ่นที่ดำเนินวิถีชีวิตโดยการทำประมงพื้นบ้านที่ยั่งยืน
"เราอยากเห็นร้านคนจับปลาสามารถเลี้ยงตัวเองได้และยังคงส่งผลกำไร ไปทำงานพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรประมงและชุมชนได้เหมือนเดิมโดยไม่ต้องพึ่งแค่การเขียนโครงการขอทุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ ถ้าร้านคนจับปลาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ใช่แค่เราประสบความสำเร็จทางธุรกิจแต่เรายังช่วยเหลือชาวประมงไปในตัว ทำให้เขาเห็นว่าอาหารทะเลที่เขาจับมานั้นสามารถสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นและทำให้เขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ ผลลัพธ์สุดท้ายที่เราจะทำให้เกิดขึ้นจริง คือ เราอยู่ได้ ชาวประมงอยู่ได้และทะเลยั่งยืน คือ เราประสบความสำเร็จ "
จึงเป็นที่มาของการจัดงาน "Fisherfolk in Bangkok ครั้งที่ 4" ซึ่งมีภาคีร่วมจัดได้แก่ องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย วิสาหกิจร้านคนจับปลา และสนับสนุนโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคมนี้ ที่ สวนครูองุ่น ทองหล่อซอย 3 (Root Garden เดิม)
รูปแบบงานจะเป็นการออกร้านของร้านคนจับปลา 5 พื้นที่จากทะเลใต้และตะวันออก คือ พัทลุงประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สตูล และตราด ที่มาพร้อมกับเมนูเด่นของแต่ละพื้นที่ อาทิ ห่อหมกทะเลสโตย ห่อหมกทะเลรสชาติเข้มข้นอัดแน่นไปด้วยวัตถุดิบอาหารทะเลสดๆสูตรเฉพาะของจังหวัดสตูล ต้มยำกุ้งแชบ๊วย ที่ใช้กุ้งแชบ๊วยตัวเขื่องเนื้อหวานหอมจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แกงไตปลาสมุนไพร รสชาติจัดจ้านตามต้นตำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจำหน่ายอาหารทะเลปิ้งย่างพร้อมรับประทานที่ใช้วัตถุดิบสดๆ ปลอดสารเคมี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากร้านคนจับปลา โดยได้ยกทะเลนำกุ้ง กั้ง หมึก ปลา หอย มาทำให้รับประทานกันสดๆกับน้ำจิ้มรสเด็ดสูตรท้องถิ่น
และปีนี้ยังมีเซอร์ไพร์ชพิเศษกว่าทุกปี นอกจากความฟินจากอาหารทะเลสดๆปลอดสารเคมีจากร้านคนจับปลาแล้ว ผู้เข้าร่วมงานยังมีโอกาสได้ " รู้จัก" และรับฟังเรื่องราวจากมุมต่างๆของคนมากหน้าหลายตาที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเลของเรา จน " รู้ใจ " ว่ากว่าอาหารทะเลจะเดินทางอย่างยั่งยืนมาอยู่บนจานต้องผ่านความการใช้ความสามารถและความตั้งใจของหลายต่อหลายคน จากหลายบทบาทและอาชีพ โดยเฉพาะชาวประมง และคนงานในกระบวนการผลิต ซึ่งนี่ยังเป็นครั้งแรกที่ประมงพื้นบ้านชวนประมงใหญ่ที่ยั่งยืนมาคุยในช่วง 'เพราะรู้จักจึงรู้ใจ: ใครเป็นใครเบื้องหลังอาหารทะเล' กลางทองหล่อ นำโดย คุณปิยะ เทศแย้ม ชาวประมง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์ และ คุณร่ากิยา ปราบดิน เจ้าของเรือใหญ่ ทำประมงแบบห่วงใยทะเลกระบี่
ภายในงานยังมีกิจกรรมบันเทิง ให้ความรู้และเคล็ดลับอาหารทะเลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เชฟสตางค์ แห่งรายการภัตตาตารบ้านทุ่ง ที่จะมาสับ จับโยน และตะโกน ให้ทุกคนมาล้อมวงกินไป(คุย)บ่นเรื่องอาหารทะเลไป, กิจกรรมปิดตาชิมปลา ตามหา The King of Seafood, เวิร์คช็อป People Behind the Pic กับคุณครีม ณัฐวดี เหล่าวัชระ เจ้าของอินสตาแกรมรีวิวอาหาร food_oclock สุดฮ็อต ที่จะมาแชร์เกร็ดและเคล็ดลับการถ่ายรูปอาหารทะเลให้คนเทไลค์ให้, วงคุยหลากหลายเรื่องราวชีวิตและบทบาทคน "หลังอาหารทะเล " ที่จะมาเล่าเรื่องว่ากว่าอาหารทะเลจะเดินทางมาถึงมือผู้บริโภคต้องผ่านใครและอะไรมาบ้าง และโชว์ทำอาหารโดยแม่ครัวชาวเลที่มาแจกเคล็ดลับและสูตรอาหารจานทะเลคูลๆที่หาไม่ได้จากทีไหน ฯลฯ
โดยกิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้บรรยากาศเป็นกันเอง ที่ทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกว่า " เพราะรู้จักจึงรู้ใจ " คนที่อยู่เบื้องหลังอาหารทะเล เหมือนเป็นคนครอบครัวเดียวกันที่นำอาหารทะเล " คลีน กรีน แฟร์ " มาทำให้รับประทาน
คลีน – อาหารทะเลสะอาด ปลอดสารเคมี
กรีน –การประมงที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ปลาหมดไปจากทะเล
แฟร์ –แฟร์สำหรับคนกินได้ของดีและปลอดภัย แฟร์สำหรับคนจับปลา ในราคาที่เป็นธรรม
"งานสนุก ถ้าไม่ได้กินของอร่อยไม่ได้กินของสดก็จะไม่ใช่งานนี้ นี่คือความฟิน ฟินได้จากอาหารทะเล รวมทั้งได้สัมผัสบรรยากาศชาวประมงพื้นบ้าน คนจับปลาจริงๆ ที่เขาจะมาเล่าเรื่องให้ฟัง มีกลิ่นไอของชายทะเล ของชุมชนประมงชายฝั่งมาอยู่ในบรรยากาศที่รื่นรมย์กลางกรุงเทพฯ…
"ความสุขที่เกิดขึ้นจึงจะไม่ได้มีเฉพาะในวันงานเท่านั้น แต่ว่าเรามีคำตอบวิธีการบริโภควิธีเข้าถึงอาหารแบบนี้ไปได้ตลอดทั้งปี" คุณจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย หนึ่งในภาคีร่วมจัด ทิ้งท้าย