กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทีมเจ้าหน้าที่กำกับติดตามการกำจัดและป้องกันหนอนหัวดำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งดำเนินการไปแล้วร้อยละ 72.01
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งมอบสารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC ให้กับจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานจากส่วนกลางติดตามการฉีดสารเคมีในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่เป้าหมายอีก 28 จังหวัด มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่รับผิดชอบพื้นที่เป็นหน่วยกำกับติดตามการฉีดสารเคมีดังกล่าว ซึ่งการปฏิบัติงานตามมาตรการฉีดสารเคมีเข้าต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร เท่านั้น ในภาพรวมของประเทศมีต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำทำลาย จำนวน 2,608,034 ต้น ดำเนินการฉีดสารเคมีเข้าลำต้นแล้วเสร็จ จำนวน 1,798,137 ต้น คิดเป็นร้อยละ 68.95 สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการระบาดของหนอนหัวดำมากที่สุด จำนวน 2,341,368 ต้น ฉีดสารเคมีเข้าลำต้นแล้ว 1,685,935 ต้น คิดเป็นร้อยละ 72.01 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2560) สำหรับการฉีดสารเคมีเข้าลำต้นนั้น คาดว่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 30 วัน โดยสังเกตจากทางใบเขียวที่มีมากขึ้น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อสวนมะพร้าวของเกษตรกรฟื้นตัวแล้ว ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจดูแลรักษาสวนให้สะอาดไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนอนหัวดำ หากพบการเข้าทำลายของหนอนหัวดำอีก แนะนำให้ตัดทางใบและเผาทำลาย จากนั้นใช้ศัตรูธรรมชาติ (แตนเบียนบราคอน) กำจัดหนอนหัวดำเพื่อควบคุมหนอนหัวดำไม่ให้ระบาดต่อไป ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายในการผลิตแตนเบียนเพื่อควบคุมหนอนหัวดำ จำนวน 252 ล้านตัว โดยให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตแตนเบียนบราคอนพร้อมปล่อย โดยปล่อยทุก ๆ 15 วันในอัตรา 200 ตัวต่อไร่