กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--กระทรวงยุติธรรม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง การพัฒนาอาชีพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยมีผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นักวิชาการ ข้าราชการ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมรวมถึงผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพรักษาความปลอดภัย จำนวนกว่า 150 คน เข้าร่วมระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับแนวทางในการกำกับดูแลและพัฒนาอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติพนักงานรักษาความปลอดภัย พ.ศ. .... ซึ่งเสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และร่าง พรบ.การส่งเสริมการรักษาความปลอดภัยในภาคเอกชน พ.ศ....เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมซึ่งทั้งสองร่างพัฒนาขึ้นจากร่างฯ และข้อเสนอจากหน่วยงานเกี่ยวข้องในด้านธุรกิจรักษาความปลอดภัยในช่วงกว่า10 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำข้อสรุปและข้อเสนอแนะไปสู่การพัฒนาอาชีพและกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้มีคุณภาพต่อไป
ทั้งนี้ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า งานรักษาความปลอดภัยเป็นงานที่มีความสำคัญและได้ดำเนินการอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน แม้แต่กระทรวงยุติธรรมเองก็ใช้บริการของธุรกิจรักษาความปลอดภัย งานด้านรักษาความปลอดภัยมีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่ทำให้อาชญากรรมมีลักษณะ ปริมาณและรูปแบบเปลี่ยนไปมาก จนทำให้มาตรการของภาครัฐและองค์กรภาครัฐที่ใช้ในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินขยายตัวตามทัน ฉะนั้นการพัฒนาธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมจึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาในกระบวนการยุติธรรมด้วย
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า การประกอบวิชาชีพด้านการรักษาความปลอดภัยประกอบด้วยหัวใจสำคัญ 3 ประการ คือ 1)ได้รับเชื่อถือจากประชาชน 2)มีความเป็นมืออาชีพ 3) มีความเชื่อมโยงสามารถร่วมมือเกื้อหนุนเป็นประโยชน์กับหน่วยงานรักษาความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยของภาครัฐ การประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐาน การกำกับดูแล และจัดระบบให้สามารถที่จะนำไปสู่ความสำคัญของทั้ง 3 ข้อ ซึ่งตัวอย่างใน บางประเทศถึงกับกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพนี้สามารถพกอาวุธหรือปฏิบัติงานบางอย่างได้ก่อนที่เจ้าหน้าที่ไปถึง ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาธุรกิจรักษาความปลอดภัยให้มีการพัฒนาก้าวหน้าเทียบเท่าต่างประเทศ รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาระบบงานตำรวจโดยตนเป็นกรรมการและเลขานุการอยู่ด้วย ในแง่มุมของการพัฒนาระบบงานตำรวจมีความจำเป็นต้องถ่ายโอนภารกิจหลักไปยังหน่วยงานอื่นในภาคเอกชนหรือภาครัฐทำ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคือส่วนหนึ่งที่จะมีบทบาทในการช่วยลดปัญหาข้อพิพาทเล็ก ๆ น้อย ๆ หากมีการพัฒนาและให้บทบาทกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งก็มีข้อกำหนดไว้ในร่าง พรบ.การรักษาความปลอดภัยเอกชน พ.ศ....ซึ่งเสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้ช่องทางหนึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจจะเสนอต่อรัฐบาลซึ่งจะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ อีกช่องทางหนึ่งคือเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นหน่วยงานสูงสุดในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมองว่าบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่แค่ ตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานยุติธรรมเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญคือการพัฒนาหน่วยงานที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น และความจำเป็นเร่งด่วนคือ การช่วยกันพัฒนาพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จะทำให้สามารถผลักดันให้ธุรกิจรักษาความปลอดภัยและผู้ประกอบอาชีพนี้สามารถพัฒนาทัดเทียมต่างประเทศ
นายวัชรพล บุษมงคล นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิชาชีพรักษาความปลอดภัยเกิดในสังคมไทยมาประมาณเกือบ 40 ปีที่แล้ว มีการพัฒนาเรื่อยมา ปัจจุบันพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบสูงมาก ต้องทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำหน้าที่ด้านการตรวจสอบ ตรวจค้น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ ที่มอบหมายจากหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชามอบหมาย ต้องอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างเข้มงวด มีระเบียบวินัยในการปฏิบัติ ที่ผ่านมาพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้สอดคล้องสอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแต่ก็ทำได้ระดับหนึ่ง เพราะบางครั้งความร่วมมือในแต่ละภาคส่วนยังให้ความสำคัญกับงานรักษาความปลอดภัยค่อนข้างน้อย ผู้ว่าจ้างมองเห็นความสำคัญของ รปภ.น้อย และค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้ประสิทธิภาพของงานหรือการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งการเปิดบริษัทได้ง่าย ๆ ใช้ทุนน้อยทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพและมาตรฐานที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของงานรักษาความปลอดภัยขณะที่ในต่างประเทศงานรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐานคือภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงาน/องค์กรอย่างหนึ่ง
นายวัชรพล กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาหลักของธุรกิจรักษาความปลอดภัย คือ ในเรื่องแรงงานที่ขาดแคลนทั้งจำนวนและคุณภาพ ควรมีการพัฒนาทั้งเรื่องรายได้และสวัสดิการทำอย่างไรให้คนอยากมาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยมากขึ้น มีการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน ควรมีการพัฒนาความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ทั้งลูกค้าผู้ว่าจ้างและตัวพนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งมาตรการในการควบคุม การลงโทษเมื่อกระทำผิด มีระบบในการบริหารจัดการที่ดี เป็นต้น ที่ผ่านมางานด้านรักษาความปลอดภัยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยมาก ทั้งที่มีความสำคัญในเชิงของการป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ป้องกันการเกิดอาชญากรรมเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่รัฐแม้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งหากดูพื้นที่จะพบว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลอยู่ค่อนข้างมากเพราะสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งหมู่บ้านชุมชนในสังคมเมืองก็ต้องใช้ รปภ. ซึ่งแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ได้มาก รัฐควรตระหนักทั้งเรื่องการฝึกอบรม หรือการให้ความรู้ความเข้าใจให้คนเหล่านี้มีประสิทธิภาพหรือมีแรงจูงใจในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจะมีกฎหมายเกี่ยวกับงานด้านรักษาความปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มีกรอบกฎหมายชัดเจนให้ปฏิบัติ แต่กฎหมายที่จะออกมาควรเน้นการส่งเสริมมากกว่าการควบคุม พันตำรวจเอกธำรง แสงวัฒนกุล ผู้กำกับการกลุ่มงานพัฒนาการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม กองพัฒนาการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ภารกิจหลักของตำรวจคือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การดำเนินการของงานรักษาความปลอดภัยคือส่วนหนึ่งของความร่วมมือจากภาคประชาชน โดยเฉพาะการช่วยลดคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน งานรักษาความปลอดภัยมีส่วนช่วยป้องกันได้โดยเฉพาะการกระทำผิดในที่รโหฐาน เป็นความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องเข้ามาช่วยงานตำรวจในแง่การปราบปรามลดอาชญากรรมในส่วนที่ทำได้ ประโยชน์ที่จะได้จากการมีกฎหมายในการควบคุมหรือส่งเสริมคือ พนักงานรักษาความปลอดภัยจะได้มีมาตรฐานมากขึ้น ทั้งเรื่องคุณสมบัติ การควบคุมดูแล ฯลฯ อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานของงานรักษาความปลอดภัย และเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ว่าจ้าง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม การเพิ่มเงื่อนไขความรับผิดชอบของบริษัทเอกชน
ด้าน ศ.ดร.สุนีย์ มัลลิกะมาลย์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายไทย กล่าวว่า การมีหน่วยงานรักษาความ ปลอดภัยโดยมีกฎหมายรองรับ การทำหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น หากทำเกินเลยขอบเขตที่อำนาจกฎหมายให้ไว้ก็จะมีความผิดและต้องรับผิดอะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นความรับผิดทางอาญา และทางแพ่ง ปัญหาในบ้านเราขณะนี้คือ ไม่มีกฎหมายชัดเจนที่รองรับบทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย จึงเห็นด้วยที่กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นจะผลักดันให้มีกฎหมายด้านการรักษาความปลอดภัยนี้ขึ้นมา