กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
วันที่ 14 ธันวาคม 2560 ณ บริเวณหน้าอาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานแถลงข่าว KICK-OFF โครงการพัฒนาฝีมือให้แก่กลุ่มวิสาหกิจและผู้มีรายได้น้อย เสริมทักษะฝีมือสร้างอาชีพอย่างมั่นคง เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศ
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในงานแถลงข่าวดังกล่าวว่ารัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของรัฐ เพิ่มศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนโยบายสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการ ได้แก่ การจดทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และมีผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 11.4 ล้านคน โดยกลุ่มเป้าหมายเน้นหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สกลนคร และปัตตานี
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่าเพื่อเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการแห่งรัฐ กระทรวงแรงงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ภายใต้นโยบายเร่งด่วนด้านการพัฒนากำลังแรงงานยกระดับฝีมือแรงงาน ในส่วนการพัฒนาฝีมือให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้มีรายได้น้อย ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ประสานความร่วมมือทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อหาความต้องการฝึกอบรม โดยร่วมกับองค์กรเครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานจัดหางาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การค้าภายใน พัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน เพื่อร่วมกันคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงและสำรวจความต้องการด้านอาชีพ เพื่อดำเนินการฝึกทักษะได้ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ หากผู้มีรายได้น้อยต้องการเข้าทำงานในระบบการจ้างงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะร่วมกับ กรมการจัดหางาน เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการช่วยเหลือหางานทำให้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรม เป็นหลักสูตรระยะสั้น ใช้เวลาอบรม 18-30 ชั่วโมง อาทิ หลักสูตรการทำหมอนขิดจากยางพารา การทำโต๊ะเรซิ่น การทำเก้าอี้จากยางรถยนต์ การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ การทำเครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการทั่วประเทศ 61,840 คน รวมถึงการให้บริการประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังได้ตั้งเป้าฝึกอบรมเพิ่มเติมอีกกว่า 38,000 คน อยู่ระหว่างการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการคลัง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการถ่ายทอดความรู้ด้านอาชีพ สร้างโอกาสในการมีงานทำ มีรายได้ ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข ภายใต้วิถีชีวิตชุมชน อันจะนำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนแก่ประเทศต่อไป" รมว.แรงงาน กล่าว