กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร.จัดเสวนา "AHRDA Open House HRD Talk" เตรียมพัฒนาคนรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ได้จัดเสวนา การจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ขึ้น เพื่อให้บุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง บุคลากรด้านพัฒนาบุคลากร รวมถึงหัวหน้างานในสถานประกอบกิจการ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการวางแผนพัฒนาบุคลากร รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลอดจนเตรียมคนทำงานควบคู่กับหุ่นยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากบริษัท เด็นโซ่ประเทศไทย จำกัดและ Mr.OZAKI Masato ผู้เชี่ยวชาญ จาก JICA มาเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา เพื่อให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญของการพัฒนาคน
สำหรับ AHRDA ได้นำเสนอหลักสูตรพร้อมแผนการฝึกด้านยานยนต์ ที่จะดำเนินการในปี 2561 และปีต่อไป เพื่อเป็นข้อมูลให้กับสถานประกอบการนำไปประกอบการพัฒนาบุคลากรของตนเอง ซึ่งการอบรมดังกล่าว สามารถที่จะดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกัน โดยภาครัฐมีงบประมาณส่วนหนึ่งสนับสนุนด้วย และในปี 2561 กพร.มีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวน 9,860 คน ดำเนินการโดย AHRDA จำนวน 3,500 คน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเทคโนโลยีที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตของทุกคน เรื่องของ"หุ่นยนต์" หรือ เรื่องของระบบคอมพิวเตอร์ ที่เข้ามาทดแทนการใช้กำลังแรงงาน ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน แต่คนทำงานอีกกลุ่มหนึ่งยังคงต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักรที่ใช้ระบบอัตโนมัติ หรือทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการเองหรือคนทำงานก็ตาม ต้องพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันให้สามารถดำเนินธุรกิจ หรือสามารถทำงานได้ การร่วมมือกันของคนทำงาน ผู้ประกอบการ และภาครัฐ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คนทำงานยังมีงานทำต่อไป ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ภาพรวมของรัฐมีศักยภาพสูงขึ้น การเสวนาของ AHRDA เพื่อวางแผนพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ฯ จึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาทั้งในส่วนที่ขาดแคลน และส่วนที่จะต้องเติมเต็มด้านทักษะตามความต้องการของสถานประกอบกิจการอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม งานบางประเภทที่ต้องใช้ทักษะทางอารมณ์ ทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์ยังไม่สามารถถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ ตำแหน่งงานประเภทนี้ยังคงต้องการคนทำงาน เช่น งานด้านการบริการ แต่ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใดก็ตาม คนทำงานต้องพัฒนาตัวเอง ให้กลายเป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะและมีความสามารถสูงขึ้น ให้เป็นที่ต้องการของนายจ้างหรือสถานประกอบกิจการ ซึ่งในส่วนนี้ กพร.เร่งดำเนินการ โดยร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและสถาบันการศึกษาด้วย อธิบดี กพร.กล่าว