กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สปส.
ประกันสังคม คือหลักประกันในการดำรงชีพของกลุ่มลูกจ้างที่มีรายได้และจ่ายเงินสมทบเข้าร่วมกองทุนประกันสังคม โดยรับผิดชอบในการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ตลอดจนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิกให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมให้การคุ้มครองดูแลลูกจ้าง ผู้ประกันตนจำนวน 9,173,935 คน และสถานประกอบการจำนวน 381,027 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2550) ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตนมาตลอด เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นความสำคัญของสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับ ที่จะต้องช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทั้งทางกายและใจของผู้ประกันตนได้
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ที่มีการปรับเพิ่มใน ปี 2550 ซึ่งมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในหลายกรณี ดังนี้
กรณีคลอดบุตร เหมาจ่ายจากเดิม 6,000 บาท ปรับเพิ่มเป็นเหมาจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนโดยตรงในอัตรา 12,000 บาท ต่อการคลอดหนึ่งครั้ง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับความสะดวก และเพิ่มวงเงินให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยผู้ประกันตนมีสิทธิรับค่าคลอด คนละไม่เกิน 2 ครั้ง ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเลือกโรงพยาบาลสำหรับการคลอดบุตรได้เองตามสะดวก โดยสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วนำหลักฐานมาเบิกได้ที่สำนักงานประกันสังคม นอกจากนี้ ยังมีโครงการจ่ายค่าคลอดบุตรข้างเตียง โดยจ่าย ค่าคลอดบุตรพร้อมทั้งเงินสงเคราะห์การหยุดงานแก่ผู้ประกันตนหญิงทันทีที่โรงพยาบาล โดยดำเนินโครงการนำร่องที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง และจะได้ขยายบริการสู่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตและโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป
กรณีทันตกรรม ในกรณีถอนฟัน อุดฟัน และขูดหินปูน จากเดิมไม่เกิน 200 บาท ต่อครั้ง และ ไม่เกิน 400 บาท/ ปี ได้มีการปรับเพิ่มเป็นไม่เกิน 250 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 500 บาท/ปี และกรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก 1- 5 ซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1,200 บาท และ 5 ซี่ขึ้นไปจะเบิกได้ไม่เกิน 1,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
โรคเอดส์ จากเดิมจ่ายค่ายาให้ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV และเดิมกรณี ดื้อยาจะต้องมีการร่วมจ่าย สำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับเพิ่มค่ายาให้แก่ผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ สามารถรับยาต้านไวรัสเอดส์ ทั้งสูตรพื้นฐาน สูตรทางเลือก และสูตรดื้อยา สำหรับกรณีผู้ป่วยที่มีอาการ ดื้อยา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
กรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิมสำนักงานประกันสังคมจ่ายให้ 250 บาท ได้ปรับเพิ่มเป็น 350 บาท ต่อบุตรหนึ่งคน ตั้งแต่บุตรแรกเกิดไปจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ โดยสามารถเบิกได้คราวละไม่เกิน 2 คน
กรณีชราภาพ ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยมีการปรับเพิ่มเงินบำนาญจากอัตราร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย สำหรับผู้ประกันตนที่มีการจ่ายเงินสมทบมาครบ 180 เดือน มีอายุ 55 ปีและไม่ได้ทำงานแล้ว และเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพที่จ่ายเกิน 15 ปี จากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก ๆ ปี
เงินกองทุนประกันสังคมนี้ มาจาการส่งเงินสมทบร่วมกันของรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง นับวันยิ่งเพิ่มพูนแต่เงินเหล่านี้ต้องนำไปจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตน และนำไปลงทุนเพื่อให้มีดอกผล งอกเงยและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่กองทุนในระยะยาว โดยอยู่ภายใต้การดูแลและกรอบการลงทุนที่กำหนดโดยคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งมาจากผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล
ผลการบริหารการลงทุนไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 477,367 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและ ชราภาพ จำนวน 381,930 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศ ที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้เตรียมจ่ายสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ โดยจะเริ่มมีการจ่าย บำนาญชราภาพในปี พ.ศ. 2557 ส่วนเงินกองทุนที่ดูแลกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร มีจำนวน 68,841 ล้านบาท และเงินกองทุนกรณีว่างงานมีจำนวน 26,596 ล้านบาท
เงินลงทุนจำนวน 477,367 ล้านบาทในปัจจุบัน แบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เงินฝากธนาคาร และหุ้นกู้เอกชน จำนวน 389,868 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 ของเงินลงทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตราสารหนี้อื่นๆ หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ จำนวน 87,499 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของเงินลงทุน
ในช่วง 9 เดือนแรก (1 มกราคม — 30 กันยายน 2550) กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทน จากการลงทุนจำนวน 15,140 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยรับจากพันธบัตรและหุ้นกู้ จำนวน 13,078 ล้านบาท เงินปันผลและกำไรจากการขายหุ้นจำนวน 2,062 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือนเท่ากับ
- ร้อยละ 6.60 ต่อปี เมื่อคิดตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 40 (คิดราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีไว้เผื่อขายและเพื่อค้า)
- ร้อยละ 8.84 ต่อปี เมื่อคิดตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 42 (คิดราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมด)
นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ กรณีตาย กำลังอยู่ในระหว่างปรับเพิ่มค่าทำศพ จากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 40,000 บาท
สำหรับ ทิศทางการดำเนินงานของ สำนักงานประกันสังคมในปี 2551 ยังคงเน้นการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง และผู้ประกันตน ดังนี้
กองทุนเงินทดแทน การปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาล
- วงเงินขั้นต้นจาก 35,000 บาท เป็น 45,000 บาท
- ค่ารักษาพยาบาลสูงสุดจาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท
การปรับเพิ่มค่าทดแทน จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน
- กรณีหยุดงานจาก 3 วันขึ้นไป เป็นการจ่ายตั้งแต่วันแรกที่หยุดงาน
- กรณีทุพพลภาพจากไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี ถึงตลอดชีวิต
- กรณีตายจาก 8 ปี เป็น 12 ปี
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมให้การดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แม้ว่าจากนี้ไปภารกิจของสำนักงานประกันสังคมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังยืนยันที่จะทุ่มเทพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดีที่สุด และได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบประกันสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ หากลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด หรือที่สายด่วน 1506