กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลด้านการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ให้มีความสำคัญ การแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การกำหนดพื้นที่แนวกันชนและที่ราบเชิงเขาให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการปลูกป่าเพื่อป้องกันการบุกรุกป่า และส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่เอกชน รวมถึงการสร้างรายได้จากไม้เศรษฐกิจให้กับเกษตรกร
อ.อ.ป. จึงได้ดำเนินการสานต่อนโยบายของรัฐโดยเน้นกิจกรรมการส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อที่จะรักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และใช้ประโยชน์ให้กับประเทศ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้ได้ร้อยละ 15 รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงจากการปลูกป่าเศรษฐกิจ
ผอ.อ.อ.ป. ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมา อ.อ.ป. ได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ รอบสวนป่าใช้พื้นที่ของเกษตรกรเอง ปลูกต้นไม้โตเร็วให้เป็นแหล่งวัตถุดิบ และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ดังนั้นคาดว่าในแนวทางที่ อ.อ.ป. ดำเนินการนี้น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสนับสนุนนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับประเทศได้ อ.อ.ป. จึงได้ดำเนินการต่อยอดจัด "กิจกรรมส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ" อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ในกิจกรรมฯ นี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีอาชีพที่มั่นคงจากการปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ในพื้นที่ซึ่งทำการเกษตรชนิดอื่นๆ ไม่ได้ผลหรือได้ผลผลิตต่ำ ตลอดจนเป็นกิจกรรมที่สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง เบื้องต้น อ.อ.ป. ได้กำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่กรรมสิทธิ์ - สิทธิครอบครองทั่วไปของเกษตรกร ไว้จำนวน 500,000 ไร่ ดำเนินการในระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2560-2579
โดยในปี 2560 อ.อ.ป. จะดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรรอบสวนป่า อ.อ.ป. ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ทั่วประเทศ พื้นที่ดำเนินการทั้งสิ้น 2,950 ไร่ และ อ.อ.ป. ดำเนินการต่อเนื่องใน ปี 2561 จำนวน 36 จังหวัด ทั่วประเทศ พื้นที่ดำเนินการทั้งสิ้น 22,000 ไร่ (มีเกษตรกรแจ้งความประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 2,018 ราย) และ อ.อ.ป. มีแผนงานจะดำเนินการต่อเนื่องทุกปี ปีละ 25,000 ไร่ ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย จนครบตามเป้าหมาย 500,000 ไร่
สำหรับแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจนั้น ผอ.อ.อ.ป. กล่าวว่า จะใช้วิธีการเชิญชวนราษฎรและเกษตรกรชุมชนในท้องถิ่นที่มีความสนใจและมีความประสงค์จะปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งชนิดไม้โตช้าและไม้โตเร็ว เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าเศรษฐกิจในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของเกษตรกรเอง โดย อ.อ.ป. ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเงินทุนในการปลูกและบำรุงรักษาให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นระยะเวลา 3 ปี
ส่วนชนิดไม้ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกจะเป็นไม้ชนิดโตเร็ว เช่น กระถินเทพา ยูคาลิปตัส ไผ่ เป็นต้นและไม้ชนิดโตช้า เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ มะค่าโมง เป็นต้น
ทั้งนี้ ผอ.อ.อ.ป. ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า หากกิจกรรมการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่าไม้เศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ดำเนินการครบตามแผนงานและสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ จะทำให้เกษตรกรหรือราษฎรในท้องถิ่น มีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมและการจำหน่ายไม้ ไม่ต่ำกว่าปีละ 33,000 - 67,000.- บาท/ราย ขึ้นอยู่กับชนิดไม้ที่ปลูก อีกทั้งกิจกรรมนี้ยังสามารถลดการบุกรุกพื้นที่ของรัฐ ลดการตัดไม้จากป่าธรรมชาติ และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ ป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย