เครือข่ายนโยบายเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพหนุน สนช. ชู 3 ประเด็นแก้ร่าง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย

ข่าวทั่วไป Thursday November 29, 2007 12:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สช.
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 คืบ หลังกฤษฎีกาปรับแก้เนื้อหาจากข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่ง สนช.ตั้งกรรมาธิการปรับปรุงก่อนประกาศใช้เป็นทางการ เครือข่ายภาคประชาชนยอมรับ ร่างใหม่คำนึงถึงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น พร้อมหนุนสนช. ดัน 3 ประเด็นหลัก เปิดช่องให้ผู้แทนภาคประชาสังคมถ่วงดุลย์ร่วมนั่งกรรมการเพิ่มขึ้น คงการเก็บค่าธรรมเนียมรายปี และคุมเข้มโฆษณากระตุ้นการใช้สารเคมี
นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ในฐานะผู้ประสานเครือข่ายนโยบายเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ เปิดเผยว่า โดยภาพรวม ร่าง แก้ไข พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ที่ผ่านการพิจารณาจากกฤษฎีกามีความรัดกุมเพิ่มขึ้นในหลายประเด็น อาทิ กฤษฎีกาตัดข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเกี่ยวกับวัตถุอันตรายแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งหากปล่อยให้ประเด็นนี้ผ่านไป การติดตามควบคุมตรวจสอบวัตถุอันตรายจะหละหลวมมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ กฤษฎีกายังตีกรอบให้การนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 สามารถนำเข้าได้เฉพาะในกรณีเพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานในการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น
“ต้องขอบคุณคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องประชาชนและสังคมที่จะได้รับผลกระทบจากวัตถุอันตราย อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่เครือข่ายฯ กังวลคือ ร่างใหม่ได้แก้ไขให้อำนาจคณะกรรมการวัตถุอันตรายมากขึ้น แต่สัดส่วนกรรมการที่มาจากภาคประชาชนน้อยมาก ซึ่งอาจทำให้การกำหนดทิศทางนโยบายเรื่องวัตถุอันตรายขาดมุมมองเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชนไป”
ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ. ใหม่ กำหนดให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีอำนาจหน้าที่ในกำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนการกำกับดูแล รวมถึงอำนาจในการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ. จากเดิมที่กำหนดอำนาจหน้าที่เพียงการให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเท่านั้น ในส่วนของสัดส่วนกรรมการทั้ง 25 คนพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้แทนจากฝ่ายรัฐ โดยเปิดให้มีผู้แทนภาคประชาชนเพียงสองคนเท่านั้น มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำเนินงานในองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อการคุ้มครองสุขภาพอนามัย หรือสิ่งแวดล้อม
“ในอดีต เราเคยมีคณะกรรมการระดับชาติเช่นนี้หลายชุด แต่เมื่อขาดการถ่วงดุลย์จากภาคสังคมทำให้การออกนโยบาย กฏระเบียบอาจละเลยผลกระทบที่ส่งผลต่อประชาชน หรือกลายเป็นนโยบาย กฏระเบียบที่ให้น้ำหนักกับการดำเนินงานภาคเอกชน ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดควรมีคณะกรรมการจากภาคประชาชนในสัดส่วนที่เท่าเทียมกับตัวแทนจากภาครัฐ เพราะผู้ใช้ และได้รับผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตรายรุนแรงที่สุดคือเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และประชาชน และที่สำคัญมาก คือ ต้องกำหนดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ในกฎหมายด้วย”
เครือข่ายนโยบายเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ ยังเห็นร่วมกันว่า ไม่ควรตัดมาตรา 42 ที่กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้เก็บรักษาวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และ 3 ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี เพราะเป็นรายได้ของรัฐ และการยกเลิกการแจ้งยอดหรือติดต่อกับหน่วยงานรัฐรายปีจะส่งผลให้การควบคุมติดตามตรวจสอบปริมาณวัตถุอันตรายภายในประเทศย่อหย่อนลง
ส่วนประเด็นที่สามซึ่งเครือข่ายฯมีความเห็นร่วมกันคือ ต้องการให้นำข้อคิดเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นการควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตราย มาบรรจุในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วย ทั้งนี้ ครม.เอง ได้มีมติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 เห็นชอบตามข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการควบคุมการโฆษณา และการขายตรงสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในลักษณะข้อบังคับทางกฏหมาย โดยต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้และผู้บริโภคอย่างครบถ้วนและเป็นธรรม
“ดังนั้นการตัดข้อเสนอเรื่องนี้ของ สช. ออกไปเท่ากับละเลยมติ ครม. และทำให้ไม่มีมาตรการในการควบคุมติดตามการโฆษณา รวมถึงควบคุมกลยุทธ์การกระตุ้นยอดขายสารเคมี ด้วยการลด แลก แจก แถม ของบริษัทจำหน่ายสารเคมี ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นหลักเป็นเรื่องที่เครือข่ายเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ สนช. ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านที่สุด อย่างไรเมื่อเราแก้ไขกฏหมายเพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศแล้ว สิ่งสำคัญที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องพิจารณาต่อคือการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” นางสาวทัศนีย์กล่าว
นางสาวทัศนีย์ยังกล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นหลักทั้ง 3 เรื่องแล้วยังมีประเด็นปลีกย่อยที่เครือข่ายจะติดตามการพิจารณาของ สนช. อย่างใกล้ชิด อาทิ มาตรา 53 ที่ยกเลิกอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยอ้างว่าไม่เคยมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ ซึ่งเครือข่ายระบุว่าการคงอำนาจไว้เป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นจะไม่เกิดการบังคับใช้กฏหมายเพราะเจ้าพนักงานอื่น อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีความเข้าใจเรื่องสารพิษเพียงพอที่จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้ และที่ผ่านมาเคยมีการแจ้งจับกุมการใช้สารเคมีในการเลี้ยงกุ้งโดยพนักงานเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรมาแล้ว สมัยที่นายเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรรีช่วยว่าการกระทรวงฯ
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ วัตถุอันตราย 2535 ระบุว่า วัตถุอันตรายหมายถึง วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี และวัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และได้แบ่งระดับวัตถุอันตรายเป็น 4 ชนิด ตามความรุนแรง โดยวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า จำหน่าย และมีไว้ในครอบครอง โดยเด็ดขาดยกเว้นตามที่ พ.ร.บ.กำหนดโดยอนุโลม
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
คุณทัศนีย์ วีระกันต์
ผู้ประสานเครือข่ายนโยบายเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ โทร. 086-300-4342
คุณอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้ชำนาญการ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โทร. 02-590-2316
ผู้ประสานงานข่าว
พลินี เสริมสินสิริ โทร. 02-590-2307
มนทิรา วิโรจน์อนันต์ โทร. 02-590-2307

แท็ก กฤษฎีกา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ