กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ICDL
จากงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ที่เพิ่งผ่านไป สร้างกระแสความสนใจในเรื่องความก้าวหน้าด้านดิจิทัลในเมืองไทยแบบที่หลายคนก็ไม่นึกมาก่อนว่าเมืองไทยนั้นมีกลุ่มคนที่มีความรู้เฉพาะด้านต่างๆ ที่นำมาโชว์ ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน หุ่นยนต์ที่ทำอะไรได้อย่างหากหลาย เรื่อยไปจนถึงการจัดแข่งเกมส์ออนไลน์มือถือที่นำพาเอาเด็กๆ เยาชนคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมในงาน นี่ไม่ใช่การมอมเมาแต่ก็เป็นกุศโลบายที่แยบยลในการเอาสิ่งที่น่าสนใจมาจูงใจไปสู่สิ่งที่อยากนำเสนอจริงๆ ต้องขอปรบมือให้ ผอ. ดีป้า และท่านเจ้ากระทรวงดีอี มาอีกครั้ง
หลังจากจบงานก็คงต้องมาคิดกันว่าจะเดินหน้าประเทศไทยไปยัง ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างไรตามเป้าหมายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพราะการจะให้ประเทศไทยนั้นก้าวกระโดดจากกับดักประเทศกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างใจหวังนั้น แค่คนหรือเยาวชนเพียงหยิบมือเดียวที่เราเห็นมาอวดผลงานอยู่ในงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ก็คงไม่เพียงพอ แต่หากจะมุ่งพัฒนาไปในทิศทางเดียวทั้งหมดนั้น ก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะจะกลายเป็นการพัฒนาประเทศแบบไม่สมดุล
มีอยู่แนวทางเดียวก็คือการสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสม และมีมาตรฐานในระดับสากล เหมือนอย่างประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งในโลกยุคนี้เป็นยุคที่ทุกอย่างที่เรียกว่า ดิจิทัล เป็นหลักสำคัญ การทำให้คนหรือสังคมใดก็ตามสามารถใช้งาน ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตและธุรกิจได้ ย่อมเป็นความได้เปรียบ และเราก็ได้เห็นมามากแล้วว่า ในประเทศพัฒนาแล้วสามารถพัฒนาสังคมและความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศด้วย ดิจิทัล ได้อย่างไร โดยกระบวนการผลักดันไม่ใช่รัฐบาลที่ไปกำหนดหรือบังคับว่าทุกคนต้องเข้ามาอยู่ในระบบนี้ แต่เป็นการส่งเสริมด้วยการเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่พร้อมในการใช้งาน และผลที่ตามมาก็คือ ความรู้และความพร้อมในการใช้งาน สิ่งเหล่านี้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ องค์กร ภาคเอกชน ข้าราชการ และประชาชน ล้วนต้องสร้างให้ คน นั้น มีความสามารถในการอ่านออก เขียนได้ ในด้านดิจิทัล และพัฒนาสู่การมีทักษะดิจิทัลที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับตนเอง ดังเช่นวิสัยทัศน์ของ รมต.กระทรวง ดีอี กับสโลแกนของงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ในวันนี้ "โลกเปิด ประเทศปรับ เราเปลี่ยน"
กลับมามองที่ประเทศไทย การจะไปให้ถึงเป้าประสงค์ ประเทศไทย 4.0 ให้ได้นั้นก็ไม่ใช่แค่ว่ากำหนดนโยบายเพียงอย่างเดียวแล้วจะสำเร็จลงได้ การกำหนดนโยบายเป็นเพียงการสร้างแนวทางที่ชัดเจนว่าเราจะพัฒนาประเทศ ระบบและประชากรไปพ้นจากกับดักประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างไร ซึ่งการพัฒนาคนหรือบุคคลากรนั้นถือว่าเป็นโครงสร้างที่สำคัญและเป็นงานใหญ่มาก
คำถามต่อมาคือว่า "วันนี้ความรู้ด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy ของประเทศไทยอยู่ที่ตรงไหน?" หากถามคำถามนี้เมื่อสองปีที่แล้วคุณอาจได้คำถามกลับมาอีกเป็นกระสอบว่า มันคืออะไรหรือแล้วทำไมเราถึงต้องรู้มันด้วยละ จะทำเรื่องนี้ไปทำเรื่องปัญหาความรู้หนังสือของคนในประเทศให้เสร็จก่อนดีกว่าไหม คำตอบมันคือใช่และไม่ใช่แต่ถ้าเปลี่ยนมาถามตอนนี้คำตอบในบางแง่มุมก็อาจจะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้
หากยังไม่เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงขอยกตัวอย่างการเดินหน้ายกระดับความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐที่เป็นรูปธรรม หากพูดถึงเรื่องบุคลากรภาครัฐทุกคนคงรู้จักหน่วยงานอย่าง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เป็นอย่างดี แถมด้วยองค์กรอิสระใหม่อย่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) ปัจจุบันสององค์กรนี้เดินหน้าจัดทำกรอบการประเมินระดับความรู้ทางด้านดิจิทัลร่วมกับองค์กรนานาชาติอย่าง ICDL เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบการสอบประเมินวัดความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบุคคลากรทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มที่ภาครัฐทั้งระบบเพื่อให้พร้อมต่อการเปิดบริการกับประชาชนคนไทย
มองต่อไปถึงภาคส่วนประชาชนคนทั่วไป ความพยายามในการเดินหน้าสานต่อสู่เป้าหมายในนโยบายของกระทรวงดีอีคือการประกาศเดินหน้าสร้างผู้มีความรู้ด้านดิจิทัลในระดับที่สามารถถ่ายทอดความรู้ ที่เรามักจะเรียกรูปแบบนี้ว่า Train the Trainers จำนวน 1,000 คนทั่วประเทศภายในหกเดือน เพื่อเตรียมกระจายไปทำการอบรมความรู้ดิจิทัลให้กับศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลตำบลที่มีกว่า 24,700 แห่งทั่วประเทศไทยภายในเดือนเมษายนปีหน้า นั่นคือความคืบหน้าของภาคประชาชนที่เดินหน้าโดยหน่วยงานรัฐที่จะทำให้เรื่องของการใช้ระบบดิจิทัลในการดำเนินชีวิตไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในสังคมเมืองอีกต่อไป
พอเห็นความคืบหน้าทั้งฝั่งของภาครัฐและภาคประชาชนแล้ว คำถามที่มีเสมอก็คือแล้วความพร้อมสำหรับภาคธุรกิจไทยอยู่ที่ตรงไหน? เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจว่าภาคธุรกิจคือส่วนที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในเรื่องนี้ คำตอบที่ได้อาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็เป็นได้ จากการสำรวจของ ICDL ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากประเทศต่างๆทั่วโลก พบว่าผู้สมัครงาน 29% แจ้งว่าตนเองมีทักษะความรู้ที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการทำงาน "ดีมาก" และอีก 49% บอกว่าตนเองมีทักษะความรู้อยู่ในระดับ "ดี" แต่หลังจากนำเอากลุ่มคนตัวอย่างเหล่านี้เข้าทดสอบทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหน้าที่ที่สมัครงาน พบว่ามีเพียง 7% เท่านั้นที่สอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานของ ICDL ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องอาศัยการทำความเข้าใจเพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่กับประเทศไทย
ปัจจุบันมาตรฐานสากล ICDL ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานและสมาคมด้านคอมพิวเตอร์ต่างๆ รัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ สหประชาชาติ ยูเนสโก หน่วยงานด้านการศึกษา และบริษัทชั้นนำทั่วโลก ซึ่งหลักสูตรมาตรฐานสากล ICDL ได้ใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในระดับราชการ บริษัทเอกชน หน่วยงานด้านการศึกษา มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ต่างๆ ในนานาประเทศรวม 150 ประเทศทั่วโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ รวม 42 ภาษา และรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนสอบไปแล้วกว่า 15 ล้านคนทั่วโลก ข้อสอบและประกาศนียบัตร 50 ล้านฉบับ
ICDL ได้แบ่งหลักสูตรวุฒิบัตรออกเป็น 3 ระดับ ที่เหมาะกับทุกคนและการทำงานที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 1. ระดับพื้นฐาน (Digital Literacy) เป็นทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทุกคนควรมี 4 วิชา ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Computer Essentials) การใช้งานออนไลน์และอินเทอร์เน็ต (Online Essentials) การจัดการงานเอกสาร (Word Processing) การบันทึกข้อมูลในรูปแบบตาราง (Spreadsheet) และ 2. ระดับเสริมสมรรถนะการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Competence) และ 3. ระดับเชี่ยวชาญการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Expertise)
และจากงาน Digital Thailand Big Bang 2017 อีกเช่นกัน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนยิ่งกว่านั้นก็คือในระดับผู้บริหารองค์กรเองก็อาจจะยังเห็นภาพที่ไม่ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า เพราะอะไร Digital Literacy หรือความรู้ด้านดิจิทัลในระดับการนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นสำคัญอย่างไรกับการขับเคลื่อนธุรกิจหรือองค์กรในเศรษฐกิจที่ดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญ
เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ในประเทศไทยยังคงมีองค์กรที่ยังมองไม่เห็นว่า Digital Literacy นั้นสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจในเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างไร มีจำนวนไม่น้อยที่มองว่าการลงทุนไปกับระบบสารสนเทศในอดีตนั้นเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนก้อนใหญ่ที่มีผลตอบแทนน้อยและยังไม่เห็นพลานุภาพของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กุญแจสำคัญที่จะทำให้การลงทุนกับเทคโนโลยีดิจิทัลจะคุ้มทุนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคลากรภายในองค์กรนั้นมีความรู้และสามารถใช้งานเครื่องมือดิจิทัลเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกวันนี้หลายองค์กรมีสมาร์ทโฟนไว้ใช้ได้แค่การส่งไลน์สื่อสารกันไปมา แต่ในสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวกันกลับสามารถเป็นได้ตั้งแต่เครื่องมือสื่อสารไปจนถึงอุปกรณ์การจัดตารางการทำงานหรืออะไรต่อมิอะไรได้อีกหลายอย่างให้ทั้งกับผู้บริหารไปจนถึงพนักงานระดับล่าง เพียงแต่ว่าคุณรู้ว่าจะใช้อุปกรณ์ที่ประดุจไม้กายสิทธิ์นี้ได้อย่างไร
เมื่อถึงวันที่จิ๊กซอว์ทุกภาคส่วนเริ่มพร้อม ภาครัฐ, ประชาชนและองค์กรเอกชน โดยเฉพาะคู่แข่งของคุณพร้อม ถึงเวลานั้นพวกที่พร้อมแล้วก็จะทิ้งทั้งคุณและคนในองค์กรยังไม่รู้ว่าจะใช้ ดิจิทัล ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไรไว้ข้างหลัง อาจจะล้มและก้าวต่อไปไม่ได้อีกเลยหากยังไม่ขยับตัว ไม่ใช่แค่เดิน แต่ต้องวิ่งตามและจะเหนื่อยกว่าใครที่เดินล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ถึงเวลาแล้วไหมที่จะต้องตัดสินใจขยับกันจริงจังเรื่องนี้สักที