กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
ร้อยละ 30 ของบริษัทขนาดเล็กกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นเป้าประสงค์ระยะยาว 3 ลำดับแรก
ร้อยละ 59 ระบุว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะช่วยปรับปรุงความสามารถในการทำกำไร
ร้อยละ 27 ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจมากขึ้น
ธนาคารเอชเอสบีซี เปิดเผยผลสำรวจของธุรกิจพาณิชย์ธนกิจว่า เกือบหนึ่งในสามของบริษัทขนาดเล็กซึ่งมีพนักงานจำนวน 200-2,000 คน (ร้อยละ 30) เห็นว่าการสร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งใน 3 ลำดับแรกของเป้าประสงค์ในระยะยาว
บริษัทขนาดเล็กที่มีโอกาสใช้กลยุทธ์ระยะยาวด้านความยั่งยืนต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด พบว่าอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ 43) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์/ซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 36) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 34) และเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองแร่ (ร้อยละ 42) สาธารณูปโภค (ร้อยละ 38) และการผลิต (ร้อยละ 37)
จากการสำรวจผู้บริหารกว่า 1,400 คนใน 14 ประเทศ พบว่า ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ตระหนักว่าลูกค้ากำลังต้องการผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถช่วยให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยร้อยละ 59 ของบริษัทที่สำรวจ ระบุว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตและมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีขึ้น
บริษัทที่ทำธุรกิจในภาคการผลิต (ร้อยละ 72) และบริษัทในอินเดีย (ร้อยละ 68) บริษัทในซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 66) และบริษัทในแคนาดา (ร้อยละ 66) มีโอกาสได้รับประโยชน์เชิงพาณิชย์มากที่สุด นอกจากนี้ เกือบหนึ่งในสามของบริษัททั่วโลก (ร้อยละ 30) เชื่อว่าการพัฒนาธุรกิจให้มีความยั่งยืนมากขึ้นจะนำไปสู่การมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ ผลสำรวจพบว่า กว่า 1 ใน 4 ของบริษัทขนาดเล็ก (ร้อยละ 27) ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจมากขึ้น โดยบริษัทในซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 34) บริษัทในฮ่องกง (ร้อยละ 33) และบริษัทในออสเตรเลีย (ร้อยละ 33) มีโอกาสให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากที่สุด ส่วนในรายภาคธุรกิจ พบว่า ธุรกิจเหมืองแร่ (ร้อยละ 36) ธุรกิจการบริการอย่างมืออาชีพ (ร้อยละ 34) และธุรกิจสาธารณูปโภค (ร้อยละ 33) แสดงถึงความมุ่งมั่นมากที่สุดในการลงทุนอย่างยั่งยืน
ผลสำรวจเอชเอสบีซีเผยบริษัทขนาดเล็กมุ่งใช้กลยุทธ์การเติบโตและการลงทุนอย่างยั่งยืน/ หน้า 2
นายไบรอัน พาสโค ผู้อำนวยการบริหาร หัวหน้าสายงาน Client Coverage ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ ธนาคาร เอชเอสบีซี กล่าวว่า "การปรับแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนเป็นกลยุทธ์แบบทันทีทันใดและกลยุทธ์ระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารธุรกิจอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้ากำลังต้องการ และเป็นวิถีการเติบโตของธุรกิจเพื่อให้แข่งขันได้ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เราเชื่อมั่นว่าบริษัทขนาดเล็กไม่ได้แค่ตระหนักว่าความยั่งยืนเข้ามาเปลี่ยนเกมธุรกิจ แต่บริษัทหลายแห่งกำลังใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และได้ลงมือปฏิบัติจริงแล้ว"
"สำหรับเอชเอสบีซี เรากำลังช่วยให้บริษัทเหล่านี้มุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนต่อไป โดยร่วมกับลูกค้าในการประเมินและศึกษาระบบสินค้าและบริการทั้งหมดอย่างครบวงจร เพื่อกำหนดประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ปรับเปลี่ยนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และช่วยให้บรรลุมาตรฐานด้านความยั่งยืนดังที่ผู้ซื้อคาดหวัง"
บริษัทขนาดเล็กที่กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นเป้าประสงค์ระยะยาว 3 ลำดับแรก (ร้อยละ) บริษัทขนาดเล็กที่ระบุว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนช่วยปรับปรุงความสามารถในการทำกำไร (ร้อยละ) บริษัทขนาดเล็กที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจมากขึ้น (ร้อยละ)
ทั่วโลก 30 59 27
ออสเตรเลีย 34 61 33
แคนาดา 29 66 25
จีน 32 54 23
ฝรั่งเศส 22 56 27
เยอรมนี 26 62 25
ฮ่องกง 30 56 33
อินเดีย 28 68 19
อินโดนีเซีย 43 62 31
เม็กซิโก 24 55 23
ซาอุดิอาระเบีย 36 66 34
สิงคโปร์ 26 54 25
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 36 44 23
สหราชอาณาจักร 19 60 27
สหรัฐอเมริกา 28 56 28
จากผลสำรวจโดยเฉลี่ย พบว่า มีเพียงร้อยละ 18 ของบริษัทขนาดเล็กเท่านั้นที่เห็นด้วยว่า แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46) เห็นว่า แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนมีความสำคัญในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง (ในอีก 3 ปีข้างหน้า) โดยบริษัทเหล่านี้เห็นว่าแนวปฏิบัติที่มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต คือ การจัดตั้งทีมงานเฉพาะที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
ขณะนี้สิ่งสำคัญที่บริษัทต้องดำเนินการเพื่อพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น คือ การมองหาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริหาร (ร้อยละ 47) ระบุว่า เป็นปัจจัยที่มีผลต่อผลประกอบการของบริษัทในอีก 3 ปีข้างหน้า
ขั้นตอนปฏิบัติที่บริษัทสามารถนำไปใช้ เพื่อทำให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ ประกอบด้วย
· มองหาประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง ทั้งในด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดต้นทุน ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ใกล้กว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน และประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง
· ปรับเปลี่ยนแบบจำลองธุรกิจให้เข้ากับความนิยมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ลูกค้าที่ใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมักจะให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากหรือผลิตมาจากวิถีที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มรายได้แก่ธุรกิจได้
· การลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามโดยรวมที่จะบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
· ออกและบังคับใช้มาตรฐานทางจริยธรรมและนโยบายในเรื่องต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน และชุมชนสัมพันธ์
· รายงานผลการดำเนินธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance (ESG) performance) ความโปร่งใสเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญเพื่อได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและนักลงทุน
ทั้งนี้ ธนาคารเอชเอสบีซีได้ทำการสำรวจประจำปี 2560 โดยสอบถามผู้บริหารของบริษัทที่มีพนักงานจำนวน 200-2,000 คนในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา